ชูนักเรียน อย. น้อย ร่วมรณรงค์พฤติกรรมที่ถูกต้องในการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพของเด็กและเยาวชนให้มีสุขภาพที่ดีห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อย. ลงพื้นที่โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงเรียน อย. น้อย ระดับดีเยี่ยม เยี่ยมชมการดำเนินกิจกรรมโครงการเพื่อต่อยอดสู่ความยั่งยืน
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่าจากภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่มุ่งเน้นการคุ้มครองดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยในการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งนอกจากการกำกับและตรวจสอบด้านคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์แล้ว ยังส่งเสริมการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้เลือกซื้อและบริโภคได้อย่างปลอดภัย รู้เท่าทันโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริง ซึ่ง อย. น้อยเป็นอีกหนึ่งเครือข่ายที่ อย. สร้างขึ้น เพื่อร่วมรณรงค์ให้เกิดความปลอดภัยในการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพในโรงเรียน โดยกิจกรรมที่นักเรียน อย. น้อยดำเนินการ เช่น การตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหารทั้งในโรงอาหารและร้านค้ารอบ ๆ โรงเรียน หากพบว่ามีสารปนเปื้อนจะมีการดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขปรับปรุง รวมทั้งทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องในการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพในโรงเรียน ครอบครัว และชุมชนรอบโรงเรียน โดยได้มีการรณรงค์ต่อเนื่องและได้เริ่มขยายเครือข่าย อย. น้อย ตั้งแต่ปี 2546 ปัจจุบันมีโรงเรียนสมาชิก อย. น้อยกว่า 13,800 โรงเรียน มีนักเรียนแกนนำที่เข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละปีกว่า 300,000 คน
สำหรับในครั้งนี้ อย. ได้ลงพื้นที่ ณ โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมเยี่ยมชมการดำเนินงานกิจกรรม อย. น้อย ซึ่งโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ได้เข้าร่วมโครงการ อย. น้อย มาตั้งแต่เริ่มโครงการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และมีพัฒนาการในส่วนของการทำกิจกรรม อย. น้อยอย่างเข้มแข็ง โดยได้รับรางวัลประกวดโครงการ อย. น้อยระดับประเทศ ระดับเขต และระดับจังหวัด นอกจากนี้ยังได้รับการรับรองมาตรฐานโรงเรียน อย. น้อยระดับดีเยี่ยมตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 – ปัจจุบัน ซึ่งเป็นเกณฑ์ระดับสูงสุดของมาตรฐานโรงเรียน อย. น้อย โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัยเป็นศูนย์เรียนรู้โครงการ อย.น้อย ของ จ.สมุทรสาคร มีการนำแผนและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในการพัฒนาพฤติกรรมการบริโภคอาหารของนักเรียนไปสอนในระดับชั้นเรียนต่าง ๆ มีการจัดกิจกรรม "พี่สอนน้อง" ให้ความรู้ในชุมชนทั้งภายในและนอกโรงเรียนในการหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ลดปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จัดเสียงตามสายและป้ายนิเทศบูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ตรวจสารปนเปื้อนในอาหาร รณรงค์หลีกเลี่ยงการซื้อหรือใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพตามโฆษณาชวนเชื่อ ใช้ยาอย่างสมเหตุผล อ่านฉลากอาหาร ยา และเครื่องสำอางก่อนซื้อและใช้ เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการดูแลความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพร่วมกับชุมชน ซึ่งโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัยเป็นโรงเรียนต้นแบบ รวมทั้งมีการขยายกิจกรรมไปยังโรงเรียนเครือข่ายอีกมากกว่า 40 โรงเรียนด้วย
ด้าน ดร.ประพจน์ แย้มทิม ผู้อำนวยการโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย ได้กล่าวถึงประโยชน์ที่นักเรียนจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ อย.น้อยก็คือ ทำให้เด็กนักเรียนมีความรู้ ตระหนักถึงคุณค่าในตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคม รู้จักเลือกซื้อ เลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ เลือกบริโภคยาอย่างเหมาะสม และนักเรียนยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปขยายผลบอกต่อแก่สมาชิกในครอบครัว ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองในข้อมูลดังกล่าวอย่างถูกต้อง นอกจากนี้นักเรียน อย.น้อยยังสามารถทำตนเป็นประโยชน์ต่อชุมชน เช่น การทำกิจกรรมเดินรณรงค์ให้ความรู้ในการเลือกบริโภคอาหารที่ลด หวาน มัน เค็มแก่ผู้ที่อยู่ในชุมชนของตน ทำให้โรงเรียนได้รับการยอมรับจากชุมชนด้วยเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนที่เห็นได้ชัดคือ นักเรียนมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงมากขึ้น นักเรียนอย.น้อยช่วยกันตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหาร เด็กจะรู้ว่าจะใช้ชุดทดสอบใดไปทดสอบปริมาณสารที่ปนเปี้อนในอาหารชนิดต่าง ๆ และประเมินคุณภาพอาหารของผู้ประกอบการที่มาจำหน่ายอาหารในโรงเรียน ทำให้เกิดการพัฒนาเรื่องการประกอบอาหารและสถานที่ประกอบอาหารให้ถูกสุขลักษณะมากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อเด็กเยาวชนมีสุขภาพที่ดี มีร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ย่อมส่งผลให้สามารถลดงบประมาณในการดูแลสุขภาพไปใช้พัฒนาในด้านอื่นที่จำเป็นแทนในที่สุด
เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการ อย. น้อยจะยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนามาเป็นลำดับ ล่าสุดทางอย. มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเครื่องมือในการเผยแพร่ความรู้ โดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในสื่อการสอนต่าง ๆ เช่น 3D, การใช้เทคโนโลยีเออาร์ (Augmented Reality) ฯลฯ โดยทางอย. ผลิตสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ และสาธิตให้แกนนำ อย.น้อยในแต่ละแห่งนำไปพัฒนาใช้กับ อย.น้อยในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้เพื่อปลูกฝังและพัฒนาพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพของเด็กและเยาวชน ให้เป็นผู้บริโภคที่สามารถเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างเหมาะสม ถูกต้อง และปลอดภัย นำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีต่อไปในอนาคต