ประเด็นที่ 1 การให้โครงการทางด่วนรามอินทรา - อาจณรงค์ และบางนา - ชลบุรี เข้ากองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนอย่างชัดเจน
คำชี้แจง
TFFIF เป็นทางเลือกในการระดมทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่ต้องการเงินลงทุนจำนวนมาก สำหรับการระดมทุนผ่าน TFFIF ของ กทพ.) เป็นการนำกระแสเงินสดบางส่วนที่จะได้รับในอนาคตของทางด่วนสายฉลองรัชและทางด่วนสายบูรพาวิถี โอนให้แก่ TFFIF เพื่อให้ กทพ. นำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนผ่าน TFFIF เพื่อนำไประดมทุน ลงทุนพัฒนาโครงการทางพิเศษของ กทพ. ได้รวดเร็วมากขึ้น ส่งผลถึงประชาชนได้รับบริการได้เร็วขึ้นด้วย โดยการจัดตั้งและระดมทุนของ TFFIF ดำเนินการตามประกาศและหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยมีการจัดสรรให้ประชาชนรายย่อยให้ได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุนอย่างเท่าเทียมหรือเรียกว่า Small Lot First ซึ่งอยู่บนหลักการในการจัดสรรให้แก่ประชาชนรายย่อยในประเทศเป็นสัดส่วนหลักตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ทำให้การเสนอขายหน่วยลงทุนต่อนักลงทุนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของ TFFIF มีการจัดสรรให้แก่ประชาชนรายย่อยมากที่สุดในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนที่เสนอขาย นอกจากนี้ ในส่วนที่มีการจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่นักลงทุนสถาบันได้จัดสรรให้นักลงทุนในประเทศเท่านั้นและเน้นให้มีประชาชนรายย่อยเป็นผู้ลงทุนหลักด้วย โดยไม่ได้มีการจัดสรรให้แก่บุคคลรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ
ประเด็นที่ 2 โครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี ซึ่งใช้เงินภาษีประชาชนสร้างจำนวน 1.4 แสนล้านบาท แต่กลับไม่สามารถบริหารจัดการด่านเก็บเงินได้ ต้องให้ภาคเอกชนเข้ามารับสัมปทานเป็นผู้ทำด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง โดยรัฐจ่ายค่าจ้างให้เอกชนปีละ 2,000 ล้านบาท สัญญา 30 ปี ได้รับประโยชน์อย่างง่ายดาย โดยไม่มีความเสี่ยงแต่อย่างใด
คำชี้แจง
1. รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี เป็นไปตามผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการของกรมทางหลวงโดยความเห็นชอบของกระทรวงคมนาคม โดยในการนำเสนอมีข้อสรุปว่า ภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างงานโยธา และให้เอกชนจะเป็นผู้ออกแบบและลงทุนค่าก่อสร้างงานระบบ ศูนย์ควบคุมการจราจร และระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M)
2. ในการให้เอกชนร่วมลงทุนดังกล่าว เงินค่าผ่านทางทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ โดยเอกชนจะได้รับค่าตอบแทนจากการลงทุนและทำ O&M ซึ่งค่าตอบแทนของเอกชนจะขึ้นอยู่กับผลการประมูลแข่งขันที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ นอกจากนี้ การกำหนดเงื่อนไขในการจ่ายค่าตอบแทนข้างต้นจะเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานของเอกชน รวมถึงสามารถปรับลดค่าตอบแทนหากเอกชนปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้ด้วย
ประเด็นที่ 3 การจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจ โดยอ้างว่าเพื่อให้รัฐสามารถดูแลผลประโยชน์ได้ แต่ตามข้อเท็จจริงเป็นการเปิดทางให้แก่นายทุนเข้ามาถือครองแทน
คำชี้แจง
ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ในรายละเอียด โดยในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาไม่มีบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ โทร. 0 2298 5880-7 โทรสาร 0 2279 8547
...................................................................................................