นายกรัฐมนตรีพบเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนรายย่อย กลุ่มบริหารจัดการน้ำชุมชน กลุ่มประชารัฐรักสามัคคี เพื่อใช้ วทน. ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน แก่เศรษฐกิจฐานราก

พฤหัส ๓๑ มกราคม ๒๐๑๙ ๑๗:๔๗
นายกรัฐมนตรีพบเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนรายย่อย กลุ่มบริหารจัดการน้ำชุมชน กลุ่มประชารัฐรักสามัคคี เพื่อใช้ วทน. ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน แก่เศรษฐกิจฐานราก พร้อมรับมอบสมุดปกขาว "ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สู่แนวทางปฏิบัติ"

ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี พบเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนรายย่อย "ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สู่แนวทางการปฏิบัติ – Local Economy in Action" จำนวน 500 คน เพื่อนำเสนอและมอบสมุดปกขาวการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สู่แนวทางการปฏิบัติ โดยตัวแทนกลุ่มบริหารจัดการน้ำชุมชน ตัวแทนเกษตรกรสภาเกษตรกรแห่งชาติและกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนรายย่อย และนักวิชาการ ต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ตอบโจทย์ความพยายามในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานรากในทุกด้าน เพื่อการก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์และเป็นการกระจายรายได้ โอกาส และความมั่งคั่ง จัดโดย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้ให้เกียรติเป็นองค์ปาฐก ในหัวข้อ "นโยบายรัฐบาลในการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ" เพื่อเป็นการยืนยันถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างจริงจังและจริงใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ความโดยสรุปว่า จะนำเอาแนวทางแก้ไขที่เสนอมาจากแต่ละภาคส่วน ที่ทุกคนได้ร่วมกันระดมความคิดจนเกิดเป็นสมุดปกขาวเล่มนี้ไปดำเนินการ โดยในส่วนระบบข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ จะมอบหมายให้กระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก หรือ BIG data for Local Economy (LE) ก่อน โดยดำเนินการดังนี้ 1.เริ่มจากการเร่งเชื่อมโยงข้อมูลของระบบ TPMAP ที่ระบุถึงความยากจนเข้ากับข้อมูลสวัสดิการต่างๆ ทั้งสวัสดิการด้านการศึกษา สวัสดิการด้านสุขภาพอนามัย สวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย สวัสดิการด้านการมีรายได้อื่นๆ ข้อมูลการประกอบอาชีพรายพื้นที่ เพื่อสร้างเป็นระบบสนับสนุนการตัดสินใจสำหรับผู้ว่าราชการในแต่ละจังหวัดและผู้นำส่วนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาความยากจน ตามที่ได้มีการนำเสนอมา

2.ต่อไปเราต้องเร่งในการจัดทำเครื่องมือสำหรับเกษตรกร โดยการจัดหาข้อมูลสนับสนุนเพื่อการตัดสินใจด้านเกษตรกรรม อาทิ พื้นที่เหมาะสมในการเพาะปลูก ปริมาณความต้องการน้ำเพื่อการเกษตร อุณหภูมิ ข้อมูลเรื่องศัตรูพืช และข้อมูลอื่นๆ เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจ รวมไปถึงข้อมูลด้านราคาผลผลิต และแหล่งจำหน่ายเพื่อให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจในการเพาะปลูกได้ล่วงหน้า 3.ขอให้สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เร่งดำเนินการขยายการใช้งาน TPMAP ซึ่งเป็นเครื่องมือในการระบุพื้นที่ที่มีความยากจน โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าหน่วยงานทุกภาคส่วนนำเครื่องมือนี้มาใช้อย่างจริงจัง และรายงานความก้าวหน้าผลการแก้ไขปัญหาความยากจนในแต่ละพื้นที่ทุกไตรมาส

ในส่วน ระบบการบริหารจัดการน้ำชุมชน ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งในเรื่องการให้ชุมชนดูแลและบริหารจัดการน้ำด้วยตนเอง แต่ต้องทำให้ถูกวิธี โดยการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ ดังนี้ 1. กระทรวงมหาดไทยและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ต้องสร้างความตระหนักให้ชุมชนและเร่งทำแผนที่น้ำชุมชน หรือสมุดปกเขียว ในทุกระดับ ตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด 2. ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละพื้นที่ต้องนำเอาแผนน้ำที่ชุมชนคิดโดยชุมชนนำไปขับเคลื่อน โดยรัฐต้องเปลี่ยนจากการเป็นผู้ชี้นำ เป็นผู้สนับสนุนแทน โดยอาจจะเริ่มจากพื้นที่แล้งและท่วมซ้ำซากก่อน เป็นเป้าหมายเร่งด่วนใน 1-2 ปีนี้ 3. ประชาชนเปลี่ยนจากผู้ขอเป็นผู้ดำเนินการ โดยกำหนดเขตจัดการน้ำโดยชุมชนเชิงพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จ (Living Lab) ซึ่งผมจะนำเอาแนวคิดนี้ไปหารือในการประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

ส่วน ปัญหาเรื่องปากท้อง คงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุด กลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยคือ มีรายได้ประมาณ 2,686 บาทต่อเดือน มีจำนวนกว่า 5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ดังนั้นเราต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรกรดังนี้ 1.เราต้องใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พัฒนาเครื่องมือในรูปแบบ Application ที่ฉลาดและมีข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถแนะนำเกษตรกรว่าควรปลูกอะไรให้ขายได้ ปลูกเมื่อไร มีน้ำพอไหม หากมีน้ำน้อยควรปลูกอะไร และขายได้ที่ไหน เป็นต้น 2.ทำให้การเกษตรมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ต้องมุ่งให้ความรู้แบบเฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละสินค้าเกษตร อาทิ การนำเอาเกษตรประณีตมาใช้ การสร้างช่องทางให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร

เพื่อทุ่นแรง ถ้าทำเช่นนี้จะได้ทำให้มีผลผลิตสูงขึ้น โดยต้นทุนไม่สูงตาม 3.ลดต้นทุนของเกษตรกร ต้องเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบง่ายๆมาช่วย โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มที่ยากจน โดยต้องสร้างชุมชนที่สามารถผลิตปัจจัยการผลิตได้เอง ไม่ว่าจะเป็น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ชีวภัณฑ์ ทดแทนสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูธรรมชาติ หรือมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการเกษตรที่ผลิตได้เองในชุมชน

ในส่วนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เราต้องนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยในการยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยว ต้องสอนให้เกษตรกรทำเองเป็นดังนี้ 1. ต้องนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีง่ายๆใช้มาช่วยเกษตรกรในการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตผลทางการเกษตร เพื่อสร้างรายได้เสริมแก่เกษตรกร 2. กระทรวงวิทยาศาสตร์และกระทรวงเกษตรฯ ต้องมีช่องทางช่วยเหลือเกษตรกรที่สามารถเข้ากลไกความช่วยเหลือง่ายขึ้นในแต่ละพื้นที่ 3. ฝึกสอนให้พี่น้องเกษตรกรคิดสร้างสินค้าใหม่ๆแบบผสมผสาน แตกต่างกัน มีความแปลกใหม่

ส่วน วิสาหกิจชุมชนรายย่อย โอทอป ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จำนวน 83,538 ผลิตภัณฑ์ เรามีสินค้าดีๆ อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ชาวบ้านทำเหมือนๆ กัน ซ้ำๆ กัน ผมอยากให้กระทรวงมหาดไทย กรมพัฒนาชุมชน ปรับวิธีคิดในการพัฒนาสินค้าของวิสาหกิจชุมชนรายย่อย หรือกลุ่มโอทอปใหม่ โจทย์ที่เราต้องแก้ไขคือ 1. เราต้องสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้แก่สินค้าโอทอป ให้คนซื้อเชื่อถือว่าเป็นของดีมีคุณภาพดี ไม่ใช่เห็นโอทอปเป็นสินค้าของชาวบ้าน ทางกระทรวงมหาดไทย โดยกรมพัฒนาชุมชนจะต้องปรับวิธีการคิดใหม่ 2. เราต้องมีมาตรการสนับสนุนลดค่าใช้จ่ายในการขอรับรองมาตรฐานสินค้า เพื่อยกระดับสินค้าโอทอปให้ขายได้ทั้งในและต่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะต้องมีมาตรการในการช่วยเหลือการปรับปรุงกระบวนการให้ทั่วถึง และเราต้องทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการขอรับรองมาตรฐานสินค้าลง 3. เราต้องช่วยสอนให้ชาวบ้านคิดสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่าง ไม่ทำลอกเลียนแบบ ให้มีความภูมิใจในการสร้างสินค้าของตัวเอง กระทรวงต่างๆ ที่ไปช่วยส่งเสริม สร้างมาตรฐานของสินค้าต้องเน้นมีคุณภาพ แต่มีความแตกต่าง

สำหรับ การบริหารจัดการขยะ เป็นปัญหาที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรง เราจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะแบบเบ็ดเสร็จ บนพื้นฐานที่สามารถดำเนินการได้เองในชุมชน ปริมาณขยะในปัจจุบันประมาณ 27 ล้านตันต่อปี หรือคนหนึ่งปัจจุบันสร้างขยะ 1 กิโลกรัม/คน/วัน เป้าหมายของเราต้องลดขยะต่อคนให้เหลือครึ่งหนึ่ง กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจะต้องหาเทคโนโลยีแบบง่ายๆที่ส่งเสริมให้แต่ละครัวเรือนทำให้ขยะครอบครัวลดลง เทคโนโลยีแบบง่ายๆที่ส่งเสริมกลุ่มชุมชนในใช้ประโยชน์จากขยะ และเพิ่มมูลค่าของขยะตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของรัฐบาล ดังนี้ 1.เราต้องสร้างให้คนไทยมีวินัยเรื่องการจัดการขยะเริ่มต้นในทุกชุมชน โดยเน้นให้คัดแยกขยะที่ต้นทาง และนำเอาเทคโนโลยีง่ายๆสำหรับครัวเรือนมาช่วยในการคัดแยกขยะอินทรีย์มาใช้ประโยชน์สำหรับ กระทรวงทรัพยากรฯ จะต้องรณรงค์ให้ชุมชนมาช่วยคัดแยกขยะอินทรีย์มาใช้ประโยชน์ในครัวเรือน แต่ต้องเอาเครื่องมือและสอนกระบวนการให้เขาใช้จะได้เห็นประโยชน์ อาทิ ถังหมักก๊าซชีวภาพ สำหรับครัวเรือน โรงเรียน เพื่อพลังงานและปุ๋ยเพื่อเกษตรสำหรับครัวเรือน 2.ส่วนในระดับชุมชนจะต้องมีเครื่องมือง่ายๆ ที่รองรับขยะที่มีปริมาณมากขึ้น อาทิ ก๊าซชีวภาพอัดถัง (CBG) เชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) ดังนั้นกระทรวงทรัพยากรฯและกระทรวงมหาดไทย ควรตั้งเป้าหมายและระบุพื้นที่ในการนำแนวคิดนี้นำไปปฏิบัติ 3.พัฒนาตลาดรับซื้อเพื่อรองรับขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบรอบสอง

นายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปว่า เราต้องสร้างให้คนไทยมีวินัยเรื่องการจัดการขยะเริ่มต้นในทุกชุมชน ถ้าให้ชุมชนแยกต้องทำให้เขาเห็นประโยชน์ โดยการนำเอาเทคโนโลยีง่ายๆมาช่วยทำให้การจัดการขยะง่าย มีการสร้างมูลค่ากลับสู่ชุมชน ดังนั้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยที่นำเสนอมานั้นสอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ที่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาในมิติเชิงพื้นที่ รัฐบาลพร้อมส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มศักยภาพของชุมชนในการคิด ทำ และสร้างประโยชน์ดัวยตนเอง จากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรพื้นฐานในท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนสามารถสร้างเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนจากการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และพัฒนา และนวัตกรรม พึ่งตนเองได้ในอนาคต พร้อมทั้งสามารถลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ โดยรัฐบาลได้เริ่มดำเนินการไปแล้วในบางเรื่อง แต่จากวันนี้จะเร่งมือปฏิบัติตามที่ทุกท่านนำเสนอมา ต่อไปเราจะก้าวไปด้วยกัน เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในทุกภาคส่วนต่อไป

รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลัก ในการบูรณาการดำเนินงานขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อให้ประเทศไทยได้มีโอกาสกลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง ในปัจจุบันประเทศไทยยังติดอยู่ในโมเดลเศรษฐกิจแบบ "ทำมาก ได้น้อย" จึงต้องการปรับเปลี่ยนเป็น "ทำน้อย ได้มาก" ซึ่งจะต้องเปลี่ยนจากการผลิตสินค้า "โภคภัณฑ์" ไปสู่สินค้าเชิง "นวัตกรรม" และเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม จากการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีหรือ Smart Farming โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ เปลี่ยนจาก SMEs แบบเดิมไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง เปลี่ยนจากรูปแบบบริการแบบเดิมซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่บริการที่มีมูลค่าสูง เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้และทักษะสูง แต่สิ่งสำคัญที่เราจะเปลี่ยนประเทศไทยของเราได้นั้น เราต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากก่อน กลุ่มประชาชนที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้นได้แก่พี่น้องทุกท่านที่อยู่ในที่นี้ ทั้งภาคเกษตรกรรม ด้านกสิกรรม ปศุสัตว์ และประมง กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนรายย่อย (โอทอป)

โดยในวันนี้เราได้ร่วมกันจัดทำสมุดปกขาว "ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สู่แนวทางปฏิบัติ" ซึ่งประกอบด้วย (1) การใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big data เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก (2) การขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำชุมชน (3) การขับเคลื่อนการเกษตรกรรม (4) การขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนผู้ประกอบการโอทอป และ (5) การขับเคลื่อนเพื่อการจัดการขยะชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อตอบโจทย์ความพยายามในแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานรากในทุกด้าน เพื่อการก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์และเป็นการกระจายรายได้ โอกาส และความมั่งคั่งที่เกิดขึ้น โดยกลไกที่ใช้ประกอบด้วย การสร้างคลัสเตอร์เศรษฐกิจระดับกลุ่มจังหวัด การพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากในชุมชน การส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อตอบโจทย์ประเด็นปัญหาและความท้าทายทางสังคมในมิติต่างๆ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ การส่งเสริมและสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้มแข็ง และสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก การสร้างงานใหม่ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต การยกระดับขีดความสามารถ การเสริมสร้างทักษะและการเติมเต็มศักยภาพของประชาชนให้ทันกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก เพื่อแก้ไขกับดักความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงการสร้างความมั่งคั่งของไทยในอนาคต ด้วยการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปรับสภาพแวดล้อมให้มีความสมดุลกับการพัฒนาของคน

กิจกรรมภายในงานวันนี้ประกอบด้วย การนำเสนอสมุดปกขาว "ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สู่แนวทางปฏิบัติ" จากตัวแทนนักวิชาการ ตัวแทนนักบริหารจัดการน้ำชุมชน เกษตรกร และผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน จากผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดกว่า 500 คน โดยตัวแทนได้นำเสนอปัญหาในแต่ละด้าน พร้อมข้อเสนอแนะที่รวบรวมมาจากการระดมสมองของทุกภาคส่วน หลังจากการนำเสนอจะเป็นพิธีการแสดงเจตนารมณ์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจ"ยกระดับผู้ประกอบการโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม" ระหว่าง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "การบริหารจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ สู่ความยั่งยืน เพื่อปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

รวมทั้งยังมีการจัดนิทรรศการแสดงความสำเร็จในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วย Big Data for Local Economy (ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า แผนที่เกษตรเพื่อการจัดการเชิงรุก OTOP Map) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ผลงาน Big Rock โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งนวัตกรรมเกษตร และการบริหารจัดการขยะชุมชน

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้สร้างแพลตฟอร์มการสร้างความมั่งคั่งสู่เศรษฐกิจฐานราก ที่ขับเคลื่อนโดยใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ โดยอาศัยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเป้าเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยระบบการบริหารจัดการที่สมบูรณ์แบบ การเกษตรกรรมที่ประณีตมีประสิทธิภาพ วิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง มั่นคง และปรับเปลี่ยนขยะชุมชนเป็นพลังงาน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะเห็นผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาประเทศไทยเป็นประเทศไทย 4.0 ได้ในระยะเวลาอันสั้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๗ ม.ค. โรงพยาบาลพระรามเก้า สนับสนุนรถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ แก่โรงพยาบาลท่าวุ้ง เพิ่มโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ เข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
๐๗ ม.ค. เลอ กอร์ดอง เบลอ ฉลอง 130 ปีแห่งความเป็นเลิศ! เตรียมจัดกิจกรรมสุดยิ่งใหญ่ตลอดปี 2568 สร้างตำนานสถาบันการทำอาหารระดับโลก
๐๗ ม.ค. ศูนย์หนังสือจุฬาฯ เชิญร่วมงานวันเด็ก
๐๗ ม.ค. ก.ล.ต.ไฟเขียว นับหนึ่งไฟลิ่ง MOTHER ขายไอพีโอ 86 ล้านหุ้น ระดมทุนขยายธุรกิจ-สร้างโอกาสการเติบโตในอนาคต คาดเทรด mai
๐๗ ม.ค. เขตพญาไทเร่งติดตามแก้ปัญหาเพื่อนบ้านก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ
๐๗ ม.ค. กทม.ลุยเฝ้าระวังพิษสุนัขบ้าในเขตลาดกระบัง เร่งฉีดวัคซีนป้องกันทั่วพื้นที่
๐๗ ม.ค. กทม. พร้อมให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม 23 ม.ค.นี้
๐๗ ม.ค. ค่าฝุ่น 'สูง' กรมอนามัย หวั่น กระทบสุขภาพประชาชน แนะ เด็ก ผู้สูงอายุสวมหน้ากากป้องกัน
๐๗ ม.ค. โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน มจพ. เปิดสอบตรงวุฒิ ม.3 โครงการรับตรง ปี'2568
๐๗ ม.ค. เปิดความคืบหน้าศูนย์นวัตกรรมแปรรูปวัสดุรีไซเคิล ทุน บพข. สร้างศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มรายได้ชุมชน