ผศ ดร พูนศักดิ์ บุญสาลี อุปนายก สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ กล่าวว่า "การประกาศแนวทางกำกับดูแลสินเชื่อทะเบียนรถถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญสำหรับธุรกิจดังกล่าว ช่วยยกระดับมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจ สร้างความเป็นธรรมแก่ลูกค้าผู้ใช้บริการ อีกทั้งช่วยดึงดูดผู้ที่ปล่อยสินเชื่อนอกระบบเข้าสู่ระบบมากขึ้น สำหรับสมาชิกของสมาคมนั้นอยู่ในระหว่างการศึกษาแนวทางดังกล่าว โดยสมาชิกที่มีข้อปฏิบัติบางประการที่ยังไม่เข้าเกณฑ์กำลังเร่งปรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้"
ผศ ดร พูนศักดิ์ บุญสาลี กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในส่วนทิศทางการทำงานของสมาคมในปี 2562 นี้จะมุ่งจัดกิจกรรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินเชื่อทะเบียนรถ เพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐ มุ่งสร้างมาตรฐานและความโปร่งใสในธุรกิจดังกล่าวให้เป็นแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงได้ง่ายและเป็นธรรมสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ จึงไม่มีเอกสารแสดงรายได้เพื่อประกอบการพิจารณาสินเชื่อ จากสถาบันการเงินโดยทั่วไป"
"ธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถถือเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย สะท้อนจากตัวเลขอนุมัติสินเชื่อทะเบียนรถในปี 2560 ที่ผ่านมาซึ่งสูงถึง 2 แสนล้านบาท และมีฐานลูกค้าราว 3-5 ล้านคน เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าใน 2 ประเด็น คือ เป็นแหล่งเงินทุนที่ลูกค้ากลุ่มนี้สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ จึงไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ใช้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อ อีกทั้งมีการคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยแหล่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งส่วนใหญ่จะคิดอยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อเดือน หรือเท่ากับร้อยละ 240 ต่อปี
"ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้สินเชื่อทะเบียนรถเป็นแหล่งเงินทุนที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้น้อย ขณะเดียวกันยังดึงดูดผู้สนใจเข้าสู่ธุรกิจมากขึ้น โดยปัจจุบัน มีผู้ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถอยู่มากกว่า 1,000 ราย มีจำนวนสาขารวมมากกว่า 10,000 สาขาทั่วประเทศ โดยประกอบด้วยผู้ให้บริการที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ และผู้ใบริการระดับท้องถิ่นที่ให้บริการจำกัดอยู่ในแต่ละพื้นที่เฉพาะ" ผศ ดร พูนศักดิ์ บุญสาลี กล่าว