ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า วันนี้ (4 กุมภาพันธ์) ได้มีการหารือร่วมกับพันธมิตรรายใหม่ๆ ที่ยื่นแสดงความจำนงขอทดสอบการใช้งานระบบ 5G ที่ศูนย์การทดสอบเทคโนโลยี 5G (5G Testbed) ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งกระทรวงฯ ประสานงานการจัดตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ในจำนวนนี้มี 2 รายสำคัญที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของการลงทุนรับเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยจะเป็นทดสอบการใช้งาน 5G กรณีทำ Use Cases ในด้าน Healthcare Health Logistics และบริการสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน, ด้าน Connected Vehicles และรถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous vehicles) ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทชั้นนำทางเทคโนโลยีระดับโลกเข้าร่วมหารือด้วย เพื่อขอนำอุปกรณ์ของตัวเองเข้ามาติดตั้งและทำการทดสอบอุปกรณ์ ประกอบด้วย เอ็นอีซี ซีเมนส์ ซูมิโตโม ซิสโก้ ไมโครซอฟท์ และอินเทล ซึ่งถือเป็นความคืบหน้าต่อเนื่องจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้นำบริษัทชั้นนำทั้งที่เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม ผู้ผลิตชิปเซ็ต 5G และกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และ กสทช. ลงพื้นที่ 5G Testbed มาแล้ว 2 ครั้ง มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในรูปแบบ vertical integration
ล่าสุด บริษัทหัวเว่ย ได้ประกาศจัดตั้งศูนย์ทดสอบที่ 5G Testbed แห่งนี้แล้ว ด้วยงบลงทุนราว 160 ล้านบาท ถือเป็นการลงทุนจัดตั้งฐานทดสอบ 5G แห่งแรก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของหัวเว่ยอีกด้วย ทั้งนี้ กระทรวงฯ เตรียมเปิดตัว 5G Testbed ที่ศรีราชา อย่างเป็นทางการในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้
"กระทรวงดิจิทัลฯ มีบทบาทการเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับการทดสอบการใช้ประโยชน์จาก 5G ทั้งในเรื่องการจัดเตรียมสถานที่เพื่อเป็นศูนย์ทดสอบ การเป็นผู้รับรองอุปกรณ์ที่จะนำเข้ามาติดตั้งว่าเป็นไปเพื่อกการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถนำอุปกรณ์เข้ามาได้โดยสะดวก ล่าสุด ยังประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ เพื่อให้ทำเรื่องขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ที่จะนำมาใช้ใน 5G Testbed แห่งนี้ โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีคลื่นย่าน 26.5 GHz ย่าน 3.5 GHz และ 28 GHz ตามที่เอกชนเสนอความต้องการมา" ดร.พิเชฐกล่าว
ดร.พิเชฐ กล่าวเสริมว่า โครงการทดสอบการใช้งาน 5G เปิดกว้างสำหรับผู้สนใจที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ ตั้งเป้าหมายว่า การจัดตั้งศูนย์ทดสอบนี้จะช่วยลด 5G adoption time สร้างเวทีนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมบนเทคโนโลยี 5G สำหรับประเทศไทย สำหรับคลื่นความถี่มาตรฐานสำหรับเทคโนโลยีนี้ และแนวทางความร่วมมือที่สำคัญในครั้งนี้ คือร่วมดำเนินการทดสอบเทคโนโลยี 5G ในภาคสนาม (Field trials) ที่รองรับการทดสอบแบบ end to end และการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน บนหลักการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน มีการเปิดรับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ผู้ผลิตอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่หลากหลาย เพื่อร่วมกันทดสอบใช้งาน (Use Cases) ที่เหมาะสมและคาดว่าจะมีการนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทยโดยเร็ว อีกทั้งพร้อมสนับสนุนการพัฒนาศูนย์การทดสอบเทคโนโลยี 5G (Testbed) ในพื้นที่อีอีซี ทั้งในรูปแบบการร่วมทดสอบ ความร่วมมือในการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G การจัดกิจกรรมทางวิชาการ การพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G สำหรับประเทศไทย