อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถกำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การที่ค่ากำจัดขยะที่ประชาชนจ่ายนั้นไม่ได้สะท้อนถึงต้นทุนในการกำจัดขยะ ผู้ทิ้งขยะไม่ได้เป็นผู้รับภาระจากขยะที่สร้างขึ้นอย่างแท้จริง ทำให้ อปท. ขาดแคลนงบประมาณในการกำจัดขยะ เกิดปัญหาขยะตกค้าง การทิ้งขยะข้ามเขต งบของ อปท. จำนวนมากต้องสูญไปกับการกำจัดขยะแทนที่จะนำไปพัฒนาสาธารณูปโภคหรือคุณภาพชีวิตของประชาชน นอกจากนี้ การจัดหาเงินทุนในโครงการเกี่ยวกับการกำจัดขยะส่วนใหญ่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนในพื้นที่จึงจะประสบความสำเร็จได้ ดังเช่น การสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา
ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการ และกำจัดขยะอย่างถูกวิธี รวมทั้งนำเสนอบทบาทของตลาดทุนซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่จะสนับสนุนให้มีระบบการกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพได้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน และสถาบันวิทยาการตลาดทุน โดยคณะนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 27 (วตท. 27) จึงได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาวิชาการ "20 ปี ปัญหาขยะประเทศไทยหมดไป ด้วยกลไกตลาดทุน" ขึ้น เมื่อวันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เวลา 13.00 – 16.40 น. ณ หอประชุมศาสตราจารย์ สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
งานสัมมนาดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน ร่วมด้วยผู้บริหารจากองค์กรกำกับดูแลนโยบายเกี่ยวกับการจัดการขยะและการผลิตไฟฟ้า เช่น อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กพพ.) ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ร่วมแสดงมุมมองในการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะที่เหมาะสม โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเป็นนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท. 27) ประกอบด้วย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณทวี จงควินิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด คุณธวัชชัย เกียรติกวานกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คุณรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ ลีมัคเดช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คุณคณพศ นิจสิริภัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด ได้กล่าวถึงการใช้กลไกตลาดเพื่อแก้ปัญหา Mispricing ในการกำจัดขยะ อปท. สามารถใช้วิธีการสร้างต้นทุนทางอ้อมผ่านการซื้อถุงขยะจาก อปท. เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากการขึ้นอัตราค่าธรรมเนียม โดยแบ่งขยะเป็น 2 ประเภท คือ ขยะที่มีความชื้น และขยะที่ติดไฟได้ง่ายหรือขยะแห้ง เพื่อความสะดวกในการประชาสัมพันธ์และจัดเก็บ วิธีการนี้จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะ ช่วยลดการทิ้งขยะ และเป็นไปตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายอย่างแท้จริง
คุณธวัชชัย เกียรติกวานกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เสนอแนะการใช้กลไกตลาดทุนในการจัดการกับปัญหาขยะ ซึ่งสามารถใช้วิธีการจัดสรรเงินทุนด้วยการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือการออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Green Bond เพื่อให้สามารถระดมเงินทุนด้วยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำได้
ศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ ลีมัคเดช จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอรูปแบบโครงสร้างการจัดสรรเงินทุนของโรงไฟฟ้าจากขยะ และแสดงถึงมูลค่าที่แท้จริงของโรงไฟฟ้าจากขยะ โดยยกตัวอย่างผลดีที่จะเกิดขึ้นหากประชาชนร่วมกันคัดแยกขยะ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจากขยะมีต้นทุนที่ลดต่ำลงและช่วยลดการบิดเบือนกลไกราคาของค่าไฟฟ้าได้ ดังนั้น ประโยชน์ของตลาดทุนจึงมิได้จำกัดเฉพาะเรื่องการระดมทุนให้กับบริษัทเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการบริหารจัดการ หรือ Governance เพราะทำให้บริษัทสามารถคืนกำไรส่วนเกินกลับไปที่ประชาชนได้ด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผู้ประสานงาน คุณปิยาภา วัฒโน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โทร. 0-2596-9508 Email: [email protected]