สำหรับการจัดสร้างหุ่นกระบอก "ตะเลงพ่าย" เกิดขึ้นด้วยปณิธานของมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ในการเทิดพระเกียรติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเชิดชูการเสียสละของบรรพชนผ่านศิลปกรรมไทย โดยริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2532 และมีการจัดสร้างหุ่นกว่า 200 ตัว ประพันธ์บท บรรจุเพลง ตลอดจนคิดค้นฉาก และเทคนิคแสงสีใหม่ทั้งหมดภายใต้การควบคุมของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต และศิลปาจารย์หลากหลายท่าน อาทิ ครูชูศรี สกุลแก้ว(ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงหุ่นกระบอก) ครูบุญยงค์ เกตุคง (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงดนตรีไทย) ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงดนตรีไทย) ครูบุญยัง เกตุคง (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงลิเก) ครูวงษ์ รวมสุข(ศิลปินพื้นบ้านดีเด่นและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาหุ่นกระบอก) และอาจารย์เยื้อน ภาณุทัต ปรมาจารย์ด้านประณีตศิลป์ไทย โดยมีจำนวนผู้เชิดและนักร้อง นักดนตรีรวมเป็นจำนวนกว่า 250 คน จนถือได้ว่าหุ่นตะเลงพ่ายคือแหล่งชุมนุมศิลปกรรมชั้นสูง ไม่ว่า ทัศนศิลป์ คีตดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์ วรรณศิลป์หรือประณีตศิลป์
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเชื่อมั่นใน "บริการสากล บนจิตวิญญาณแก่นสารไทย" จึงมุ่งสนับสนุนผลงานศิลปะอันเป็นเอกนี้ให้สามารถออกแสดงได้เต็มรูปแบบเพื่ออนุรักษ์องค์ความรู้ในทางศิลปะที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยานี้ให้คงอยู่คู่แผ่นดินสืบไป