นายศาศวัต วีระปรีย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด ในปี 2561 สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 105,644 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 24.39% แบ่งเป็นสินเชื่อใหม่เช่าซื้อและลีสซิ่งและสินเชื่อจำนำเล่มทะเบียน 43,513 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.72% และสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ 62,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.36% สำหรับยอดสินเชื่อคงค้าง (Outstanding Loan) มียอดรวม 108,081 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 11.36% ทั้งนี้ บริษัทมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 1.32% ส่งผลให้บริษัทมีกำไร 1,402 ล้านบาท เติบโต 29.78% ซึ่งผลการดำเนินงานดังกล่าวสอดคล้องกับตลาดรถยนต์ไทยปี 2561 ที่มียอดขาย 1,041,739 คัน สูงที่สุดในรอบ 5 ปี
ด้านแนวโน้มตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะสามารถทำยอดขายได้ 980,000-1,010,000 คัน หรือหดตัวร้อยละ 2-5% เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งเป็นการปรับกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น หลังจากที่ในปีที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์มีการขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเภทรถยนต์นั่งที่คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดในปีนี้ น่าจะเป็นรถยนต์ในกลุ่มอีโคคาร์ ที่ในปีนี้มีโอกาสที่ค่ายรถจะนำเสนอรถยนต์อีโค-ไฮบริด และไมลด์ ไฮบริด ออกมา ซึ่งคาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการสนับสนุนทางด้านภาษี ทำให้มีระดับราคาที่สามารถแข่งขันได้ จึงเป็นโอกาสให้ผู้บริโภคเปิดรับเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่นี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่น ทั้งรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ น่าจะมีทิศทางที่เติบโตดีขึ้นมากเช่นเดียวกัน หลังค่ายรถหลายค่ายตัดสินใจเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ประเภทดังกล่าวในไทย สำหรับตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์คาดว่า ปัจจัยเรื่องการเลือกตั้ง และการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวดีจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญในการผลักดันรถปิกอัพในประเทศให้เติบโต
ในส่วนของแนวโน้มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ หลังจากที่ในปีที่ผ่านมา ขยายตัวกว่า 13% หรือกว่า 1.06 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นการขยายตัวในอัตรา 2 หลักครั้งแรกในรอบ 6 ปี จากปัจจัยด้านยอดขายรถใหม่ที่เพิ่มขึ้นและยอดชำระคืนสินเชื่อมีทิศทางชะลอลงหลังสินเชื่อในโครงการรถคันแรกทยอยครบสัญญา ในปี 2562 นี้ คาดว่าในภาพรวมของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จะยังเติบโตในอัตราที่ชะลอลงมาที่ 4.5-6.5% ตามการปรับฐานยอดขายรถใหม่เป็นหลัก
สำหรับสินเชื่อประเภทรถช่วยได้ ในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนหลักคือ การออกประกาศคุมสินเชื่อประเภทจำนำทะเบียนรถที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 31 ม.ค. 62 ซึ่งจากการออกประกาศดังกล่าวจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ในฐานะผู้ประกอบการให้สินเชื่อเช่าซื้อรายใหญ่จะแข่งขันกันมากขึ้น อีกประเด็นหนึ่งคือความต้องการสินเชื่อทั้งจากเอสเอ็มอีและประชาชนรายย่อย เนื่องจากมีกรอบเพดานอัตราดอกเบี้ยและมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน มุ่งให้ความคุ้มครองสิทธิผู้กู้และทำให้มีทางเลือกในการเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้น
นายศาศวัต กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2562 ลีสซิ่งกสิกรไทยยังคงเดินหน้ารุกตลาดที่เน้นหนักไปทางนวัตกรรมดิจิทัลด้านสินเชื่อรถยนต์ทุกประเภท รวมทั้งใช้จุดแข็งด้านเครือข่ายบริการและฐานลูกค้าของธนาคารกสิกรไทยมาต่อยอดทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อรถยนต์ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในยุคปัจจุบันที่มีความผสมผสานอย่างกลมกลืนของดิจิทัลเทคโนโลยีและชีวิตประจำวัน ซึ่งจะพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวก และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ได้อย่างตรงจุด ครบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการสินเชื่อ การพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระ การอนุมัติสินเชื่อและบริการหลังการขายอย่างครบวงจร โดยเฉพาะสินเชื่อรถช่วยได้กสิกรไทย ที่เป็นสินเชื่อเพื่อลูกค้าที่มีรถยนต์และต้องการเงินทุนหมุนเวียนหรือเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งในปีนี้ทางบริษัทฯได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ของสินเชื่อรถช่วยได้กสิกรไทย ประเภทสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ทำให้ครอบคลุมกับความต้องการของกลุ่มลูกค้ามากขึ้น นอกจากนี้ยังคงมุ่งหน้าพัฒนาเทคโนโลยี Data Analytics ที่เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อรู้ใจและความต้องการของลูกค้า เพื่อสามารถนำเสนอสินเชื่อรถยนต์ทั้งลูกค้าที่ต้องการออกรถใหม่และลูกค้าที่ต้องการนำรถมาเปลี่ยนเป็นเงินทุนหมุนเวียนกับรถช่วยได้ รวมถึงลูกค้าธุรกิจรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ โดยไม่ต้องยื่นขอสินเชื่อก่อน สำหรับการร่วมมือกับพันธมิตร ลีสซิ่งกสิกรไทยจะยังคงเดินหน้ามุ่งเน้นการผนึกกำลังร่วมกับพันธมิตรรายใหญ่ในการทำการตลาดร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และจะมีแคมเปญโฉมใหม่ทยอยออกมาเพื่อเอาใจลูกค้าตลอดทั้งปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้าธุรกิจหรือลูกค้าบุคคลรายย่อย ผ่านการประสานร่วมกันกับธนาคารกสิกรไทย โดยตั้งเป้าหมายปี 2562 ปล่อยสินเชื่อได้กว่า 110,000 ล้านบาท