เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (ส่วนทะเลแก้ว) จังหวัดพิษณุโลก นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ประธานพิธีเปิดงานวัฒนธรรมสัญจรสู่สถานศึกษา ครั้งที่ 19 ภายใต้ชื่องาน"วัฒนธรรม ศาสนา วิทยาศาสตร์ สร้างโอกาสให้เยาวชนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก" วันที่ 8 - 11 กุมภาพันธ์ 2562 พร้อมมอบหนังสือเข้าห้องสมุดโรงเรียน 100 แห่งและมอบถังน้ำ 2,000 ลิตรให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลนถังเก็บน้ำไว้บริโภค 50 โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก โดยมีนายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ประธานมูลนิธิเผยแผ่ศาสนาและพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน เข้าร่วม
นายวีระ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ขับเคลื่อนนโยบาย"วิถีถิ่น วิถีไทย"ของรัฐบาล เพื่อส่งเสริมและสร้างจิตสำนึกความเป็นไทย รวมทั้งนโยบายและยุทธศาสตร์ในการใช้วัฒนธรรมสร้างคนดีและสังคมดี โดยมุ่งเสริมสร้างค่านิยม อัตลักษณ์ไทยและความเป็นไทย เทิดทูนชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ รักท้องถิ่นและภาคภูมิใจในวัฒนธรรมไทย รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อให้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ ดังนั้น วธ.ได้ร่วมกับมูลนิธิเผยแผ่ศาสนาและพัฒนาคุณภาพชีวิต กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานรัฐ เอกชนและภาคประชาชนในจังหวัดพิษณุโลก จัดโครงการวัฒนธรรมสัญจรสู่สถานศึกษา ครั้งที่ 19 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (ส่วนทะเลแก้ว) จังหวัดพิษณุโลก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า กิจกรรมภายในงานครั้งนี้ มีทั้งนิทรรศการและกิจกรรมให้ความรู้ด้านวัฒนธรรม ศาสนาและวิทยาศาสตร์ โดยกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมและศาสนา ได้แก่ นิทรรศการ ภาพเก่าเล่าเรื่อง พระพุทธชินราชและวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก นิทรรศการมรดกโลกกำแพงเพชร นิทรรศการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย นิทรรศการสังคโลก ชุมชนคุณธรรมน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมไทย ตลาดนัดภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลาดนัดศิลปะ(Art Market) การสาธิตช่างสิบหมู่ การสาธิตของเล่นเด็กไทย กิจกรรมเกมคุณธรรม รถพิพิธภัณฑ์สัญจรเคลื่อนที่ (Mobile Museum) การจัดฉายภาพยนตร์ 3 มิติ กิจกรรมธรรมะอารมณ์ดี การแข่งขันตอบปัญหาธรรมะ การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ รวมทั้งมีการแนะแนวการศึกษาด้านนาฏศิลป์และดนตรี อาทิ การแต่งกายโขน การเล่นเครื่องดนตรีไทย การแสดงดนตรีพื้นบ้าน และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม อาทิ การแสดงหุ่นละครเล็ก (โจหลุยส์) หนังใหญ่วัดขนอน หุ่นกระบอก และมัมมี่ puppetเป็นต้น
นอกจากนี้ มีกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อาทิ นิทรรศการวิทยาศาสตร์แบบสัมผัส วิทยาศาสตร์หรรษา ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ นิทรรศการด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมสาธิตอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน นวัตกรรมไฟฟ้า กิจกรรมสาธิตการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางสูง นิเทศการขับขี่ปลอดภัย การระงับอัคคีภัยในครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งเด็ก เยาวชนและประชาชนสามารถเข้าร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ วธ.ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนจัดงานนี้มาตั้งแต่ปี 2551 และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง 18 ครั้งใน 14 จังหวัด ซึ่งผลการจัดงานที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างมาก