ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2561 มีมติเห็นชอบมาตรการลดและแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานภาครัฐดำเนินงานพร้อมกันทั่วประเทศ อีกทั้งขณะนี้มีปัญหาเรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ซึ่งเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวเรามากนั้น สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต อันเนื่องมาจากปริมาณขยะมูลฝอยเป็นเบื้องต้น กำหนดนโยบายลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในอาคารกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบุคลากรในการลดและคัดแยกขยะมูลฝอย และสร้างวินัยการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง มีการจัดการขยะมูลฝอยในอาคารกระทรวงวัฒนธรรมอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถลดปริมาณขยะมูลฝอยได้จริง
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า เบื้องต้นมีนโยบาย 3 ข้อ หรือ 3 R ให้บุคลากรนำไปปฏิบัติ คือ 1. ดำเนินการลดขยะมูลฝอยจากแหล่งกำเนิด (Reduce) ได้แก่ ลดการใช้กระดาษ ใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก โฟม โดยการปฏิเสธ หลีกเลี่ยงการนำถุงพลาสติก โฟม เข้ามาในอาคาร ลดปริมาณของเสียอันตราย ลดปริมาณการใช้วัสดุ อุปกรณ์สำนักงาน ให้มีการใช้ซ้ำ (Reuse) ได้แก่ ใช้กระดาษทั้งสองหน้า ใช้ปิ่นโตแทนกล่องโฟม และใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าสำหรับใส่สินค้า 2. ดำเนินการคัดแยกขยะมูลฝอยออกเป็น 4 ประเภท คือ ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป และขยะอันตรายตั้งแต่ในห้องทำงาน 3.ดำเนินการแปรรูปใช้ใหม่ (Recycle) ได้แก่ นำขยะอินทรีย์มาแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพ นำไปใช้บำรุงต้นไม้และสนามหญ้าในพื้นที่กระทรวงวัฒนธรรม
"การปฏิบัติตามมติ ครม.มีการลดและแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อมของข้าราชการ บุคลากรทุกคนแล้ว ยังส่งผลดีต่อคนใกล้เคียง ชุมชน และสังคมการป้องกันมลพิษระยะยาว ยกตัวอย่างเรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ทุกคนไม่ช่วยกัน ระมัดระวังเรื่องการปล่อยมลพิษ ดังนั้น การแก้ปัญหาก็ต้องเริ่มจากตัวเองช่วยกัน อยากให้ข้าราชการทุกคนหันมาเอาจริงเอาจัง เช่น ใช้ปิ่นโตใส่อาหารมารับประทาน ลดใช้ถุงพลาสติก โฟม ซึ่งจะวางมาตรการติดตามเรื่องนี้ต่อเนื่อง มีอาสาสมัครกวดขัน ตรวจตราอย่างเข้มงวด ขยายไปยังสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศให้ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง"ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว