นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาขยะเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญและให้ทุกหน่วยงานร่วมกันดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยในปัจจุบัน คนไทยสร้างขยะเฉลี่ยคนละ 1.13 กิโลกรัมต่อวัน หรือคิดเป็น 27.40 ล้านตันต่อปี นำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ 8.52 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 31 และถูกส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 11.70 ล้านตัน ส่วนที่เหลือนำไปกำจัดไม่ถูกต้อง 7.18 ล้านตัน เกิดเป็นปัญหาขยะมูลฝอย ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการส่งเสริมความรู้ สร้างจิตสำนึกและการมี
ส่วนร่วมในการจัดการขยะที่ต้นทางอย่างถูกต้องให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด การจัดการขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) โดยใช้หลัก 3Rs มาเผยแพร่ผ่านกิจกรรมโครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) และโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเป็นสังคมปลอดขยะ(Zero Waste Society) โดยการลดปริมาณขยะ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อวางรากฐานการจัดการขยะให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สอดคล้องกับบริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด และบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เล็งเห็นความสำคัญของการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยในชุมชน โดยกำหนดนโยบายในการส่งเสริมความตระหนักให้กับชุมชนและโรงเรียนที่อยู่โดยรอบโรงงาน ในการจัดการขยะให้ถูกต้องมาอย่างต่อเนื่อง
นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา กล่าวต่อว่า จากแนวทางการทำงานเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาขยะที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงได้มีการหารือร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด และบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรืออินทรี เพื่อร่วมสร้างวินัยการจัดการขยะที่ต้นทางอย่างยั่งยืน
ในการส่งเสริมความรู้และทักษะการจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกต้องให้กับเด็กและเยาวชน จึงได้ดำเนินโครงการฉลาดคิดพิชิตขยะ (Think Waste Wise) เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ในการร่วมกันดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพให้กับสถานศึกษา โดยเริ่มจากโรงเรียนที่อยู่รอบ ๆ โรงงาน ก่อนจะขยายผลไปสู่การเป็นโรงเรียนต้นแบบในการจัดการขยะที่ถูกต้องทั้งกระบวนการ และมีมาตรฐานสิ่งแวดล้อม พร้อมจัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ในการดำเนินโครงการฉลาดคิดพิชิตขยะ (Think Waste Wise) ในวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ห้องประชุมกรรณิการ์ - ราชาวดี (303 - 304) ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการบูรณาการความรู้เรื่องการจัดการขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) และการทำกิจกรรมบนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility: CSR)
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการดำเนินโครงการฉลาดคิดพิชิตขยะ (Think Waste Wise) ระหว่างกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด และบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) มีกิจกรรมความร่วมมือ ดังนี้
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
๑. สนับสนุนด้านวิชาการ องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอย โดยการมีส่วนร่วมของนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน องค์ความรู้เกี่ยวกับโรงเรียนปลอดขยะ เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการฉลาดคิดพิชิตขยะ (Think Waste Wise)
๒. ประสานงานเครือข่ายโรงเรียนปลอดขยะ หรือศูนย์เรียนรู้โรงเรียนปลอดขยะ Zero Waste School เพื่อศึกษาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนการดำเนินงานร่วมกับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฉลาดคิดพิชิตขยะ
(Think Waste Wise)
๓. สนับสนุนเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมเป็นวิทยากรให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ
๔. ดำเนินการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ การดำเนินโครงการฉลาดคิดพิชิตขยะ (Think Waste Wise)
บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด และบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)
๑. สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการฉลาดคิดพิชิตขยะ (Think Waste Wise)
๒. ลงพื้นที่เพื่อสร้างความตระหนัก โดยสอนการคัดแยกขยะให้กับโรงเรียน
๓. สนับสนุนการทำกิจกรรมเกี่ยวกับการคัดแยกขยะในโรงเรียน
๔. ดำเนินการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ การดำเนินโครงการฉลาดคิดพิชิตขยะ (Think Waste Wise)
ความร่วมมืออื่น ๆ
๑. ร่วมกันสนับสนุนให้มีการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่โรงเรียน เพื่อขยายผลการจัดการขยะมูลฝอย
และการจัดการสิ่งแวดล้อม
๒. ร่วมจัดกิจกรรมหรือความร่วมมือในลักษณะอื่นตามที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด และบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) เห็นสมควร
การลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการสร้างวินัยการจัดการขยะที่ต้นทางอย่างยั่งยืน สร้างความตระหนักให้กับนักเรียนในการจัดการขยะที่ถูกต้อง มีการนำขยะไปใช้ประโยชน์สูงสุด รวมทั้งจะทำให้เกิดการขยายผลการดำเนินงานการจัดการขยะ โดยการมีส่วนร่วมของนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนตามแนวคิดโรงเรียนปลอดขยะ เพื่อให้เป็นโรงเรียนต้นแบบในการจัดการขยะที่ถูกต้อง
ทั้งกระบวนการและมีมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การแก้ไขปัญหาขยะของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถนำความรู้ไปใช้ในบ้านของตนเอง ตลอดจนขยายผลไปสู่ชุมชนและโรงเรียนต่อไป