ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตองค์กร บริษัท ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN อยู่ที่ BBB- และประเมินแนวโน้มอันดับเครดิต "คงที่" หรือ stable จากการที่ศักยภาพการทำกำไรและสภาพคล่องของกลุ่มดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสัดส่วนผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงจุดยืนทางการตลาดอันแข็งแกร่งขององค์กร ในฐานะผู้ผลิตอาหารแช่แข็งขนาดกลางของประเทศไทยที่สามารถรักษายอดขาย แตกไลน์ธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ และการที่บริษัทลดภาระหนี้ได้ อย่างไรก็ตาม องค์กรยังคงมีความเสี่ยงจากการปรับโครงสร้างทางการเงิน, ความผันผวนทางธรรมชาติและการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง รวมถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและอุปสรรคทางการค้าจากประเทศผู้นำเข้า
ปัจจัยที่สะท้อนอันดับเครดิตองค์กรได้อย่างโดดเด่น คือ การกระจายความเสี่ยงและการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยห้องเย็นเอเชี่ยนฯ ได้ขยับขยายสู่ตลาดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องในระยะไม่กี่ปี ซึ่งช่วยให้ยอดขายรวมของกลุ่มผันผวนน้อยลง ซึ่งเห็นได้ชัดในปี 2560 ที่แม้ว่ายอดขายรวมของกลุ่มผลิตภัณฑ์แช่เยือกแข็งปรับลดลงถึง 16% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ยอดขายรวมของบริษัทกลับเพิ่มขึ้นถึง 17% ซึ่งเป็นผลมาจากยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารสัตว์น้ำ ขยายตัวถึง 48% และ 32% ตามลำดับ
นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง เชื่อว่าจะสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ ตามรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ (MOC) ประเทศไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง 481,708 ตันในปี 2560 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากปี 2553 ที่ยอดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอยู่ที่ 275,040 ตัน คิดเป็นการเติบโตต่อปีเฉลี่ย 8.3% ทั้งนี้ ห้องเย็นเอเชี่ยนเข้าสู่ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ปี 2553 ด้วยจุดแข่งขันด้านการวิจัยและพัฒนาร่วมกับคู่ค้า ส่งผลให้ห้องเย็นเอเชี่ยนฯ มียอดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็น 18,487 ตัน ในปี 2560 จากปี 2553 ที่ส่งออก 6,167 ตัน หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากถึง 32% ต่อปี และตามแผนธุรกิจ ห้องเย็นเอเชี่ยนฯ คาดหวังว่าธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงจะยังคงเติบโตและมีสัดส่วนเป็น 33-37% ของรายได้รวมของกลุ่มในช่วงปี 2562- 2564 จากการที่บริษัทฯ มีแผนรุกตลาดยุโรปและจีน ด้วยผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงทั้งแบบแห้งและเปียก ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายจากกิจการร่วมค้า
ทริสเรทติ้ง ระบุว่า อัตรากำไรจากการดำเนินงานของห้องเย็นเอชี่ยนฯ ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยช่วง 9 เดือนแรกปี 2561 ห้องเย็นเอเชี่ยนฯ มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 7% เพิ่มขึ้นจากระดับ 5.2-6.7% ในช่วงปี 2558-2559 ซึ่งเป็นผลพวงจากการมีผลิตภัณฑ์มาร์จินสูง อาทิ กุ้ง และอาหารสัตว์เกรดพรีเมียม เพิ่มขึ้น และเชื่อว่าว่ากำไรจากการดำเนินงานของห้องเย็นเอเชี่ยนฯ จะคงอยู่ในระดับ 7% ในช่วงปี 2561-2564
อีกส่วนที่สำคัญคือภาระทางการเงินที่ลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง โดยอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อโครงสร้างเงินทุนรวม ลดลงเหลือ 54.0% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ลดลงจากในปี 2559-2560 เนื่องจากการลดความต้องการเงินทุนหมุนเวียน ทั้งนี้ ห้องเย็นเอเชี่ยนฯ วางแผนที่จะใช้จ่ายเงินทุนที่ค่อนข้างสูง รวมถึงงบประมาณการเข้าซื้อกิจการ 300-600 ล้านบาทในปี 2561-2562 เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายลงทุนประมาณ 120 - 200 ล้านบาทต่อปีในปี 2556-2560 อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจะลดลงในปี 2563-2564 ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ปรับแล้วของห้องเย็นเอเชี่ยนฯ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับสูง 53% -55% ในช่วงปี 2561 ถึง 2564
ทริสเรทติ้ง ประเมินว่า สภาพคล่องของห้องเย็นเอเชี่ยนฯ จะเพียงพอในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยห้องเย็นเอเชี่ยนฯ มีแนวโน้มที่จะมีกระแสเงินสดที่เสถียรภาพมากขึ้น จากอาหารสัตว์เลี้ยงที่ช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนจากสินค้าโภคภัณฑ์ ประกอบกับภาระหนี้ที่ลดลงเป็นลำดับ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทน่าจะยังอยู่ในระดับที่ยอดรับได้
แนวโน้มอันดับเครดิต "คงที่" เป็นผลจากการที่ ทริสเรทติ้งประเมินว่าผลการดำเนินงานของ ห้องเย็นเอเชี่ยนฯ จะยังคงดีขึ้นตามที่วางแผนไว้ และบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้อยู่ระหว่าง 50% -55% ในช่วง 3 ปีถัดไป และจะรักษาวงเงินสินเชื่อให้เพียงพอและจัดการความเสี่ยงในการรีไฟแนนซ์อย่างเหมาะสม