สถานการณ์ของโรคเรื้อน

พฤหัส ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๙ ๑๔:๑๙

นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรคเรื้อน สถาบันราชประชาสมาสัย

ในทุกปี จะมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เรื่องโรคเรื้อน โดยถือวันโรคเรื้อนโลก คือวันที่ 27 มกราคม ของทุกปี สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องของโรคเรื้อน ซึ่งเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง ซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในช่วงของการเฝ้าระวัง ทำให้โรคเรื้อนไม่เป็นปัญหาสำหรับระบบสาธารณสุขของประเทศไทย จากข้อมูล 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2557-2561) จำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในประชากรไทยมีแนวโน้มลดลง คือ 208, 187, 163, 164 และ 124 ราย ทั้งนี้ในปี 2561 ที่ผ่านมา จังหวัดที่พบจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่สูงสุด5 ลำดับแรก คือ บุรีรัมย์ 11 ราย ขอนแก่น10 ราย นราธิวาส 8 ราย กรุงเทพมหานคร 7 ราย และปัตตานี 5 ราย โดยผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ยังคงพบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในประชากรต่างด้าวที่ตรวจพบในประเทศไทยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557–2561) มีตามลำดับดังนี้คือ 47 (ร้อยละ 22.6), 44 (ร้อยละ 23.5), 40 (ร้อยละ 24.5), 28 (ร้อย 17.1) และ32 (ร้อยละ 25.8) ราย โดยพบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่สัญชาติเมียนมาร์มากที่สุด คือ 175 ราย รองลงมาตามลำดับคือ ลาว 5 ราย กัมพูชา 4 ราย จีนและฟิลิปปินส์ สัญชาติละ 2 ราย เนปาล อินเดีย และอินโดนีเซีย สัญชาติละ1 ราย จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในปี 2560 ในบรรดาประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทย ประเทศที่มีการค้นพบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่มากที่สุด คือ ประเทศเมียนมาร์ 2,279 ราย ซึ่งเป็น 1 ใน 22 ประเทศ ที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาโรคเรื้อน ทั้งนี้ประเทศไทยค้นพบผู้ป่วยโรคเรื้อนในประชากรต่างด้าวในพื้นที่ภาคเหนือมากที่สุด 27 ราย คิดเป็นร้อยละ 84.4 (เชียงใหม่ 12 ราย ตาก 8 ราย เชียงราย 4 ราย แม่ฮ่องสอน 2 ราย และลำพูน 1 ราย ), ภาคกลาง 3 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.4 (นนทบุรี ราชบุรี และนครปฐม จังหวัดละ 1 ราย), ภาคใต้ 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 6.2 (สุราษฎร์ธานี และยะลา จังหวัดละ 1 ราย)

โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อไมโคแบคทีเรี่ยม เลปแปร (Mycobacterium leprae) สามารถติดต่อได้โดยทางเดินหายใจ แต่ติดต่อได้ยาก ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโรคเรื้อนคือผู้ที่สัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเชื้อมาก ซึ่งผู้ที่ได้รับเชื้อและเกิดโรคเรื้อนจะเป็นคนที่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคเรื้อนผิดปกติเท่านั้น ข้อมูลทางสถิติพบว่าผู้รับเชื้อโรคเรื้อน 100 คน จะมีโอกาสเป็นโรคเรื้อนได้เพียง 3 คน

อาการของโรคเรื้อน ได้แก่ ผื่นผิวหนัง เป็นวงด่างสีจางหรือแดงกว่าผิวหนังปกติ บริเวณรอยโรคแห้ง เหงื่อไม่ออก อาจพบขนร่วง ที่สำคัญคือรอยโรคมีอาการชา ไม่คัน หรือเป็นผื่นนูนแดง ตุ่มแดง ไม่คัน อาการที่พบจะเป็นเรื้อรังนานมากกว่า 3 เดือน ใช้ยากินยาทาทั่วไป (ที่ไม่ใช่ยารักษาโรค) แล้วไม่ทุเลาเนื่องจากอาการเริ่มแรกของโรคนั้น ไม่มีอาการคัน หรือเจ็บปวดทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจ คิดว่าไม่ใช่โรคร้ายแรง จึงไม่รีบเข้ารับการรักษา ทำให้โรคลุกลามเป็นมากขึ้น อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนส่งผลให้เกิดความพิการได้ในที่สุด ดังนั้นประชาชนทั่วไปควรหมั่นตรวจร่างกายของตนเองและบุคคลใกล้ชิด หากมีอาการดังที่กล่าวมาควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป

โรคเรื้อนเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ส่วนความพิการที่เกิดขึ้นแล้วหรือความเสี่ยงต่อความพิการในอนาคตนั้น ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มเป็น รวมทั้งปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดก็สามารถหยุดยั้งความพิการไม่ให้เกิดขึ้นหรือไม่ให้เพิ่มขึ้นได้ โดยผู้ป่วยควรปฏิบัติ ดังนี้

1.รับการรักษาตามที่แพทย์นัด และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ป่วยที่มีเชื้อน้อยใช้เวลารักษาต่อเนื่อง 6 เดือน ผู้ป่วยเชื้อมากใช้เวลารักษาต่อเนื่อง 2 ปี สิ่งสำคัญคือ ครอบครัวหรือคนดูแลต้องให้กำลังใจผู้ป่วยให้รับการรักษาและกินยาต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์

2.หากมีความเสี่ยงหรือมีความพิการแล้วให้ดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์

3.รักษาความสะอาดของร่างกาย เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ และลดความรังเกียจจากคนรอบข้าง เนื่องจากประชาชนบางส่วนเชื่อว่าคนเป็นโรคเรื้อน มักเป็นคนที่ขาดสุขอนามัยที่ดี

4.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังสม่ำเสมอเพื่อสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย

5.ทำจิตใจให้ผ่องใสไม่เครียด ไม่วิตกกังวล และปฏิบัติกิจวัตรตามปกติ

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อน เมื่อได้รับการรักษาแล้วจะหายขาดจากโรค และไม่แพร่เชื้อ เพราะยาไรแฟมพิซีน (Rifampicin) ซึ่งเป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคเรื้อนในสูตรยาผสมระยะสั้น (Multidrug therapy : MDT) มีประสิทธิภาพสูงในการทำลายเชื้อโรคเรื้อนได้อย่างรวดเร็ว ผลการศึกษาพบว่า การให้ยาไรแฟมพิซีน (Rifampicin) ขนาด 600 มก. เพียงครั้งแรก สามารถฆ่าเชื้อโรคเรื้อนได้ถึง 99.9 % ภายใน 3-7 วัน จึงทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถแพร่เชื้อต่อไปได้อีก แต่ในบางคนที่มีความพิการเกิดขึ้นก่อนมารับการรักษา แม้รักษาหายจากโรค กล่าวคือปราศจากเชื้อแล้ว แต่อาจหลงเหลือความพิการได้ อย่างไรก็ตามผู้พิการเหล่านี้จะไม่แพร่เชื้อ สามารถอยู่ร่วมกับคนในครอบครัว สังคม พูดคุย และรับประทานอาหารร่วมกันได้ อีกทั้งสามารถประกอบอาชีพได้เฉกเช่นเดียวกับคนทั่วไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย