ดร.ธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายสาธารณะสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (FIT) กล่าวว่า ทีมสตาร์ทอัพด้านการศึกษาทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม CareerVisa (แคเรียร์วีซ่า) แพลตฟอร์มแนะแนวอาชีพครบวงจร แอพพลิเคชั่นแรกในประเทศไทย ที่มีแบบประเมินความเหมาะสมทางอาชีพ จากผู้มีประสบการณ์การในการทำงานหลากหลายสาขาอาชีพ ตั้งแต่ Investment banker ที่ Wall Street หรือนักแสดง Broadway ที่ New York ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ข้อมูล โดยตั้งเป้าช่วยแก้ปัญหานิสิต นักศึกษา ที่จบการศึกษาแล้วให้ได้กว่าปีละ 6 ล้านคน ให้สามารถรู้จักตัวตนของตนเองและเลือกงานได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้การดำเนินงานของโครงการฯ กว่าจะได้ทีมชนะเลิศ จะมีการคัดเลือกจาก 100 ทีมให้เหลือเพียง 8 ทีมที่โดดเด่น เพื่อช่วยยกระดับประเทศไทย ซึ่งตลอดโครงการฯ มีการเก็บข้อมูลทั้ง 5 ด้านของการทำงาน และจับประเด็นทักษะของผู้ทำแบบประเมิน รวมถึงมีการใช้ ML ในการประเมินผล เพื่อแนะนำงานที่เหมาะสมต่อไป
ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ทีม School Bright (รู้จักในนามจับจ่าย) คือ แพลตฟอร์มบริหารจัดการโรงเรียนดิจิทัล เชื่อมโยงครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ในรูปแบบแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนในระบบมากกว่า 100,000 คนและโรงเรียนมากกว่า 100 โรงเรียน ช่วยลดเวลาการทำงานของครูให้เหลือเพียงแค่ 15 นาทีต่อวัน และจากการประเมินเวลาที่ครูทั้งประเทศต้องสูญเสียไปกับงานเอกสารต่อวันนั้น คิดแล้วใช้เวลาถึง 15,862 ปี แพลตฟอร์มนี้จึงช่วยคุณครูประหยัดเวลาการทำงานได้ถึง 90% และช่วยลดต้นทุนของโรงเรียนได้ถึง 30%
ทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ทีม BASE Playhouse แพลตฟอร์มสร้างความรู้ในรูปแบบเกม ช่วยฝึกทักษะการทำงานจริงให้เกิดขึ้นผ่านการเล่นเกม เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 เป็นการผสมผสานการทำงานร่วมกันกับทักษะออนไลน์และออฟไลน์ ผ่านบอร์ดเกมที่สำคัญ ซึ่งระบบของเกมหลังจากที่ครูเซ็ตอัพระบบการสอนแล้ว เด็กจะสามารถสร้างทักษะที่สำคัญผ่านบอร์ดเกมที่ผสานหลักการดังกล่าว ที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกับผู้อื่น การคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ ทักษะของการสื่อสาร โดยเน้นที่ระดับมัธยมต้น ซึ่งในปัจจุบัน Base Playhouse มีการทดลองใช้งานอยู่ในโรงเรียนเพลินพัฒนา และวชิราวุธ เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ โดยเทคโนโลยีจะสามารถประเมินทักษะผ่านการวัดพฤติกรรมของการเล่น และวัดจากผลลัพธ์ของการผ่านกระบวนการเล่นที่ถูกต้อง
ทีมรองชนะเลิศอันดับ 3 คือ ทีม VOXY แพลตฟอร์มของการสอนภาษาอังกฤษออนไลน์ที่ใช้เทคโนโลยี AI คู่ขนานไปกับการสอนสด จากจุดเริ่มต้นของการที่คนไทยส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แม้ว่าจะใช้งบประมาณมากมายเพียงใดก็ตาม ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวเกิดจากความไม่พร้อมของครู ความไม่กล้าพูดของคนไทย ซึ่งแพลตฟอร์มนี้สอนโดยเจ้าของภาษาตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านทางแอพพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ สามารถรองรับทั้งระบบ "iOS" และ "Android" ที่มีเนื้อหาที่อัปเดทตลอดเวลา เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้และองค์กรนั้นๆ ปัจจุบันมีผู้ใช้แล้วกว่า 5 ล้านคน
ทีมรองชนะเลิศอันดับ 4 ได้แก่ ทีม Codekit คือ แพลตฟอร์มของการเรียนรู้การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไปสู่เทคโนโลยีที่ยากขึ้น อาทิ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ จากความต้องการของแรงงานที่ยังขาดทักษะการสื่อสารกับคอมพิวเตอร์เป็นอย่างมาก ทั้งนี้จะเห็นว่าประเทศไทยยังเน้นการเรียนการสอนผ่านการโค้ตลงกระดาษ ซึ่งนอกจากจะขาดแคลนครูที่มีทักษะของการสอนโค้ตติ้งแล้ว ยังมีอุปสรรคของหลักสูตรทางการศึกษาที่ยังไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนโค้ตที่มากเพียงพอ โดย Codekit จะทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ทั้งในผู้ใหญ่ที่ไม่มีพื้นฐานและเด็กระดับมัธยมต้น ช่วย ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
สำหรับ 3 ทีม สตาร์ทอัพด้านสาธารณสุข (Health Tech) ที่ได้รับการคัดเลือกมี 3 ทีม ได้แก่ ทีม ARINCARE คือแพลตฟอร์มด้านเภสัชกรที่ใช้ดิจิทัลเข้ามาแทนที่ในการทำงานแบบเดิมๆ ทั้งนี้จากการสำรวจร้านขายยาในชุมชนพบมากกว่า 21,000 ร้านค้า และผู้ใช้บริการอีกกว่า 11 ล้านคน ยังมีการทำทุกอย่างด้วยมือและออฟไลน์ ขณะที่แพลตฟอร์มร้านขายยานี้เกิดขึ้นเพื่อให้บริการฟรี ทั้งในส่วนของบริหารคลังยา การเก็บข้อมูลคนไข้ การจ่ายยา โดยเปิดบริการให้ใช้ฟรีสำหรับเภสัชกรไทย รวมทั้งยังมีการให้คำปรึกษา และเก็บข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้นในการใช้งาน การบริหารธุรกิจ เป็นการช่วยให้ร้านขายยาชุมชนสามารถทรานฟอร์มเข้าสู่ดิจิทัลได้อย่างง่ายดายอีกด้วย รวมทั้งสามารถให้บริการได้กว่า 2,000 ร้านยา และสามารถจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้มากกว่า 30,000 รายในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ระบบยังสามารถทำงานร่วมกับการให้บริการโรงพยาบาลชุมชน หรือหน่วยงานสาธารณสุขชุมชนในการบริหารคลังยา และในอนาคตจะมีการเชื่อมข้อมูลในการใช้ยานอกโรงพยาบาลเหล่านี้เข้าสู่ระบบของโรงพยาบาล เพื่อให้กลายเป็นฐานข้อมูลหนึ่งเดียวกัน
ทีมรองชนะเลิศอันดับ1 ได้แก่ ทีม Medisee แพลตฟอร์มการบริการของคลินิก ทั้งรูปแบบบริการและบริหารจัดการที่ครบครัน ซึ่งเปิดโอกาสให้คนไข้ที่มีผลการรักษา สามารถนำผลดังกล่าวเข้ามารับคำปรึกษาจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญโดยเฉพาะได้ เป็นการช่วยเสริมให้ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากของการรักษาได้เป็นอย่างมาก
ทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Remote-Care แพลตฟอร์มการดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวันให้สนุก โดยระบบการทำงานจะเชื่อมเข้ากับอุปกรณ์ตรวจวัด Wearable Device เพื่อการวัดสุขภาพต่าง ๆ เข้ากับแอพพลิเคชั่น และสร้างรางวัลการดูแลสุขภาพจากการนับก้าวเพื่อแลกเป็นรางวัล ซึ่งปัจจุบันมีเป็นรูปแบบเงินสด และมีโรงพยาบาลภาครัฐใช้งานอยู่ 2 แห่ง และเอกชนบางแห่ง โดยมุ่งเน้นไปกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable Diseases) หรือโรคอ้วน ที่เป็นต้นเหตุของโรคต่าง ๆ ที่รัฐต้องอุดหนุนการรักษากว่า 8.5 ล้านคน ด้วยงบประมาณกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท
"ปัญหาด้านการศึกษาเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญในหลายประเด็น รวมถึงเรื่องความไม่เท่าเทียมในทุกระดับปัญหา ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยแนวทางเดิม ๆ เพียงอย่างเดียว ดังนั้นการริเริ่มโครงการ "GovTech Mission – One Nation, One Mission ยกระดับประเทศไทย" ที่มีความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการมีส่วนช่วยระดมความรู้ ความคิดเห็นสำหรับการบริหารจัดการ ซึ่งเมื่อได้แนวคิดและลงมือทำแล้วเชื่อว่าจะนำไปสู่การเชื่อมต่อกับทางหน่วยงานราชการ โรงพยาบาล รวมถึงโรงเรียนต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินต่อจากนี้จะได้มีการคัดเลือกทีมที่ชนะเลิศที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมในโครงการฯ โดยจะมีการหารูปแบบในการดำเนินงานต่อไป" ดร.ธราดล กล่าวสรุป
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า "โครงการนี้ตั้งใจจะเชื่อมโยงสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแก้ปัญหาด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุข เพื่อช่วยแก้ปัญหาและการทำงานของภาครัฐเพื่อยกระดับประเทศไทย โดยจะช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงภาครัฐและได้รับการสเกลอัพให้มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนที่จะได้รับประโยชน์ร่วมกันในอนาคตทั้งรัฐบาลและสตาร์ทอัพ
ขอขอบคุณทุกทีมที่เข้าร่วมโครงการฯ ที่ผ่านมาคือจุดเริ่มต้นต่อจากนี้คือการนำความคิดของแต่ละทีมไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ทำได้จริงแบบลงลึกไปอีก สิ่งที่สตาร์ทอัพเหล่านี้กำลังทำอยู่ โดยจะช่วยเหลือการศึกษาและสาธารณสุขได้มากขึ้น เชื่อว่ามาถูกทางแล้ว และช่วงนี้ใกล้เลือกตั้ง หลายๆ คนคิดว่าการจะเข้ามาช่วยประเทศชาติ ต้องเข้ามาเป็นนักการเมือง ความจริงไม่ใช่ แต่สามารถช่วยได้ด้วยวิธีที่ทุกท่านกำลังทำอยู่"
ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ GovTech Mission – One Nations, One Mission ยกระดับประเทศไทย กล่าวว่า โครงการฯ นี้เป็นหนึ่งในการแก้ไขปัญหาด้วยเทคโนโลยี ซึ่งตอบโจทย์ปัญหาด้านการศึกษา และด้านสาธารณสุข รวมถึงการเปิดรับนโยบายแนวคิดใหม่ ๆ เพราะปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ภาคเอกชนรู้เรื่องเหล่านี้มากที่สุด และการดำเนินโครงการฯ จึงเป็นการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) แอพพลิเคชันเข้ามาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาได้ถูกจุดและตรงกับความต้องการ และทำได้เห็นผลจริง