สำหรับ "ยุทธศาสตร์กาแฟ ปี 2560 - 2564" ได้มุ่งเน้นการสร้างให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้ากาแฟในอาเซียน การเพิ่มผลผลิตกาแฟในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิตและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การสร้างและพัฒนาเครือข่ายระหว่างกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการ รวมถึงการยกระดับคุณภาพและภาพลักษณ์ของกาแฟไทยสู่มาตรฐานสากล ซึ่ง "ยุทธศาสตร์กาแฟ ปี 2560 - 2564" มีเป้าหมายสำคัญที่จะต้องบรรลุในปี 2564 ได้แก่ 1) รักษาผลผลิตกาแฟภายใต้การผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่น้อยกว่า 30,000 ตัน/ปี 2) เพิ่มผลผลิตให้มากกว่า 250 กิโลกรัม/ไร่ ในสวนเดี่ยว และมากกว่า 150 กิโลกรัม/ไร่ ในสวนผสมผสาน 3) ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรอย่างน้อย 10% และ 4) เพิ่มมูลค่าการค้ากาแฟอย่างน้อย 10%
นายณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ยุทธศาสตร์กาแฟ ปี 2560 - 2564" ยังได้กำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งภาครัฐ มูลนิธิโครงการหลวง สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อดำเนินงานภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มูลนิธิโครงการหลวง สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เป็นต้น
ทั้งนี้ กาแฟ เป็นสินค้าที่มีมูลค่าการค้าขายสูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากปิโตรเลียม และมีการเติบโตของตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยการบริโภคกาแฟของประชากรโลกเติบโตเฉลี่ยปีละ 1.2% ซึ่งจากข้อมูลของ International Coffee Organization - ICO ระบุว่า ปีเพาะปลูก 2015 ผลผลิตกาแฟของโลกสูงถึง 9 ล้านเมตริกตัน จากการเพาะปลูกใน 70 ประเทศ ส่งผลให้อุตสาหกรรมกาแฟสร้างเสริมอาชีพและรายได้ให้แก่ประชากรกว่า 25 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในทวีปแอฟริกา ละตินอเมริกา อเมริกาใต้ และกลุ่มประเทศอาเซียน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพของอาเซียนในการพัฒนาธุรกิจกาแฟ พบว่าแม้อาเซียนจะเป็นอนุภูมิภาคในทวีปเอเชียที่มีสมาชิกอยู่เพียง 10 ประเทศ แต่อาเซียนมีศักยภาพสูงทั้งในการผลิตและส่งออก รวมถึงบริโภคกาแฟมากที่สุดภูมิภาคหนึ่งของโลก