ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนเข้าร่วมประชุมในโครงการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ ด้านการอ่าน การเขียน และการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดโดยคณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา สืบเนื่องจากการจัดอันดับคะแนนด้านการศึกษาของไทยโดย IMD (International Institute for Management Development:IMD) พ.ศ.2557 พบว่าผลคะแนนตัวชี้วัดลดลงเกือบทุกด้าน โดยบางส่วนเกิดจากนักเรียนหลายระดับชั้นยังมีปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษา รวมทั้งสถานศึกษาในฐานะหน่วยงานปฏิบัติการดำเนินงานจากนโยบายสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ได้กำหนดนโยบายให้นักเรียนทุกระดับชั้นอ่านออกเขียนได้ เนื่องจากเป็นพื้นฐานสำคัญของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ มีส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาสติปัญญา สามารถชี้แนวทางการสร้างพฤติกรรมและค่านิยมที่ดีให้กับเด็ก ซึ่งจะเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชาติ
ดร.มนตรี เด่นดวง คณบดีคณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นสถาบันที่มีพันธกิจในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น โดยรากเหง้ามาจากโรงเรียนการฝึกหัดครู ซึ่งมีประสบการณ์อันยาวนานในการผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพครู ตลอดจนบัณฑิตในสาขาอื่น บวกกับมีจุดแข็งจากความใกล้ชิดกับท้องถิ่น มีฐานข้อมูลและรับทราบสถานการณ์ปัญหาจริงของชุมชนมาต่อเนื่อง ตลอดจนได้รับการยอมรับจากภาคีเครือข่ายในระดับจังหวัดและภูมิภาค ดังนั้น เมื่อทางคณะฯ ได้รับรู้ปัญหา ประกอบกับเล็งเห็นถึงความสำคัญด้านคุณภาพทางการศึกษาในพื้นที่เขตให้บริการวิชาการ ทั้งใน จ.สงขลา พัทลุง สตูล และ ตรัง จึงมีแนวคิดในการจัดประชุมระดมความคิดเห็น เพื่อร่วมกันผลักดันให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายรวม 67 โรงเรียน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มวิชาภาษาไทยสูงขึ้นตามเกณฑ์มาตรฐาน วัดจากคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Onet) ในรายวิชาภาษาไทย เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 50 จากโรงเรียนทั้งหมด โดยยกระดับคุณภาพการเรียนรู้พื้นฐาน ส่งเสริมด้านการอ่านการเขียนและคิดวิเคราะห์ให้ดีขึ้น
ด้าน ร.ต.อ. สมชาย เสือแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านบาโรย กล่าวว่า โครงการที่ทางคณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา จัดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อโรงเรียน สามารถนำสิ่งที่ได้จากการร่วมแลกเปลี่ยนปัญหาการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาภาษาไทย ในเรื่องของปัจจัยหนุนที่ส่งเสริมให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้มาประยุกต์ใช้ โดยเริ่มจากการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ความมุ่งมั่นตั้งใจของครูผู้สอน บวกกับความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาในแง่ของทักษะทางวิชาการ ต่อยอดไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย