นายชิษณุพงศ์ กล่าวว่า "บทความเรื่องนี้ เป็นการวิจัยเพื่อศึกษากลวิธีการสร้างอารมณ์ขันในเรื่องขำขันล้านนาที่มีการล้อเลียนพฤติกรรมของคน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่เป็นนิทานพื้นบ้านล้านนาเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการล้อเลียนพฤติกรรมของคนได้จำนวน 57 เรื่อง โดยใช้แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวกับอารมณ์ขันมาวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า กลวิธีการสร้างอารมณ์ขันในเรื่องขำขันล้านนาแบ่งออกเป็น 2 กลวิธีหลัก คือ กลวิธีทางด้านเนื้อหา และกลวิธีทางภาษา โดยกลวิธีด้านเนื้อหาสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลวิธีย่อย ประกอบด้วย การหักมุม การผูกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันโดยตรงเข้าด้วยกัน การล้อคำพูดของคนที่ตกเป็นเป้าให้รู้สึกอับอาย ส่วนกลวิธีทางภาษาสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลวิธีย่อย คือการใช้อุปลักษณ์ การเล่นกับความกำกวมทางภาษา การกล่าวเกินจริง และการใช้คำด่าหรือดูถูกโดยแสดงตนเหนือกว่า"
นอกจากนี้เรื่องขำขันล้านนายังสะท้อนให้เห็นถึงความคิดและการผ่อนคลายความกดดันอันเนื่องมาจากกฎเกณฑ์และระเบียบของสังคม ซึ่งไม่สามารถวิจารณ์ได้ในความเป็นจริงแต่กลับนำมาถ่ายทอดผ่านนิทานได้อย่างสนุกสนานและไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งของคนในสังคม อีกด้วย นายชิษณุพงศ์ กล่าวในที่สุด