"การปรับปรุงตึกตู้ปลาในครั้งนี้ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาพื้นที่ทำงานร่วมกันนอกห้องเรียนของนักศึกษาที่มีมายาวนานเท่านั้น แต่มีเป้าหมายที่จะทำให้ตึกตู้ปลาเป็นพื้นที่สร้างและต่อยอดไอเดียไปสู่ธุรกิจจริงให้ครบในที่เดียว การเรียนการสอนต้องลงมือปฏิบัติจริงทั้งตรี และโท ซึ่งเป็นแนวโน้มที่นักศึกษาและโลกธุรกิจต้องการ เราต้องการพื้นที่เปิดกว้างให้เรียนรู้และทำงานร่วมกันข้ามศาสตร์ ข้ามโครงการ กระทั่งข้ามสถาบัน ซึ่งก็เป็นแนวทางที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในโลกกำลังก้าวเดิน การปรับชั้นล่างตึกตู้ปลาในครั้งนี้ เราจึงย้ายออฟฟิศออกเพื่อคืนพื้นที่ให้นักศึกษา ด้วยการสร้าง iLab และ iSpace เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันประมาณ 1,120 ตารางเมตร มีทั้ง coworking space ห้องประชุมเล็กใหญ่ เวที Pitch กับนักลงทุน รวมไปถึงพื้นที่อเนกประสงค์ที่ใช้จัดสัมมนา และ event ในรูปแบบต่างๆได้"
"การดำเนินงานเป็นไปตามขั้นตอนทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องขออนุมัติการปรับปรุงจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทุกชุด ทั้งในระดับคณะ และมหาวิทยาลัย เมื่อได้รับอนุมัติแล้วก็ประชุมกับประชาคมยาวนานข้ามปี ที่บอกว่าประชาคมไม่รับทราบนั้น ไม่เป็นความจริง เรื่องปรับปรุงตึกเข้าประชุมคณาจารย์มากกว่า 8 ครั้ง รับฟังความคิดเห็น แจ้งการเปลี่ยนแปลง อะไรที่ประชาคมไม่ต้องการเราก็ยกเลิก ปรับแบบกันหลายครั้ง มีตัวแทนจากทุกฝ่ายเข้าร่วมหารือ สุดท้ายเมื่อกลางปีที่แล้วได้ขอให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มาทำ workshop ระดมสมองร่วมกัน 4 ฝ่ายคือ ผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ พัฒนาแบบต่อเนื่องอยู่หลายเดือนจนลงตัวที่เวอร์ชั่น 8 จากนั้นเราก็เอาเข้าคณะกรรมการประจำคณะที่เป็นบอร์ดสูงสุดของคณะเพื่อขออนุมัติ ก่อนส่งเรื่องให้มหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ตั้งคณะกรรมการกำกับการปรับปรุงพื้นที่เข้ามาดูแล ดังนั้นยืนยันได้ในเรื่องความโปร่งใส และความถูกต้องในทุกขั้นตอน"
"พันธมิตรเราในโครงการนี้คือ SCB กับ Too fast to sleep โดยทั้งสององค์กรมาปรับปรุงพื้นที่ให้เรากว่า 1,000 ตารางเมตร แล้วเราให้ SCB เช่าพื้นที่ประมาณ 30 ตรม.เพื่อให้บริการนักศึกษาและบุคลากร และอีก 20 ตรม.สำหรับ Too fast to sleep เพื่อให้บริการธุรกิจ ธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยอื่นๆก็ดำเนินการในเรื่องเช่นนี้มาก่อนที่เป็นความร่วมมือเพื่อประโยชน์ของนักศึกษาและมหาวิทยาลัย"
" เรื่องการเอาที่ราชพัสดุมายกให้เอกชน ก็ไม่มีมูลทั้งสิ้น เป็นเรื่องการจัดพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยมีอำนาจดำเนินการตามมาตรา 14 (10) ของพรบ. ซึ่งมีข้อบังคับกำหนดวิธีดำเนินการชัดเจน และมีคณะกรรมการที่ราชพัสดุรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ เรื่องนี้ไม่มีประเด็นผิดกฎหมายใดๆโดยเด็ดขาด"
คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อด้วยว่า โครงการนี้เป็นการมองคนละมุม ในขณะที่คณาจารย์ที่เรียกร้องมองเรื่องตึก เรื่องทรัพย์สินเป็นสำคัญ แต่ผู้บริหารเน้นที่การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษใหม่มากกว่า ซึ่งก็ทำให้เกิดความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันได้ แต่ทีมบริหารก็จะเดินหน้าทำเพื่อประโยชน์ของนักศึกษาต่อไป คณบดีกล่าวในที่สุด