หนุนเทรนด์ “สวนผักคนเมือง” สู่การสร้างประเทศยั่งยืน

จันทร์ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๙ ๑๖:๓๘
มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน-สสส. จัดเสวนาวิชาการเกษตรครั้งที่ 1 หนุนสร้างเทรนด์สวนผักคนเมืองปูทางสร้างประเทศยั่งยืน นักวิชาการแนะเร่งสร้างแหล่งอาหารรับมือภัยพิบัติ

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมใหญ่ชั้น 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดเสวนาวิชาการเกษตรในเมืองครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ "เกษตรในเมืองเพื่อเมืองยั่งยืน"

รศ.ดร.บำเพ็ญ เขียวหวาน ประธานมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวว่า แนวคิดการทำเกษตรในเมืองและโครงการสวนผักคนเมืองต้องการยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารและส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้ปลอดภัยให้กับคนเมือง เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาคนเมืองได้ประสบปัญหาหลายประการ อาทิ การพบสารเคมีปนเปื้อนในอาหาร ราคาอาหารคุณภาพที่แพงขึ้นเรื่อยๆ การเข้าถึงอาหารปลอดภัยทำได้ยากขึ้น และทั้งหมดมีแนวโน้มที่รุ่นแรงมากขึ้น ทั้งนี้จากการขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้น แต่พื้นที่เกษตรกรรมลดลงคาดการณ์ว่าในปี 2050 อาหารที่คนเมืองบริโภค ต้องนำเข้าจากพื้นที่ชนบทถึงร้อยละ 80 และผู้บริโภคจะต้องจ่ายเงินกว่าร้อยละ 70 ของรายได้ครัวเรือนเพื่อซื้ออาหาร

เกษตรในเมือง หรือ Urban Agriculture ก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพราะในประเทศอื่นๆ เช่น ในยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่ในเอเชีย เรื่องของเกษตรในเมือง ได้รับความสนใจและเติบโตมาก โดยก็มีเหตุปัจจัยที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะความอดอยากในช่วงสงคราม การขาดแคลนอาหาร ความปลอดภัยของอาหาร การเข้าถึงอาหารของกลุ่มคนจนในเมือง เกษตรในเมืองก็เป็นทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ระดับหนึ่ง

"ผลจากการสำรวจพบว่าคนเมืองต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับค่าอาหารมากกว่าครึ่งของรายได้ทั้งหมด และรายจ่ายที่สูญเสียไปนั้นไม่ได้หมายความว่าเขาจะได้รับอาหารที่ปลอดภัย การส่งเสริมของโครงการที่ต้องการให้คนเมืองใช้พื้นที่รกร้างสร้างอาหารเองจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหา การส่งเสริมทำเกษตรในเมืองจึงเพื่อให้คนเมืองพึ่งพาตัวเองในด้านอาหาร ลดรายจ่าย และเตรียมการไว้ในยามคับขัน รับมือความเปลี่ยนแปลง ทั้งยังการเป็นเครื่องมือกลไกลดความเหลื่อมล้ำ เป็นกลไกพัฒนาชุมชนอีกด้วย"

ผศ.ดร.ปิยะพงษ์ บุษบงก์ จากสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวปาฐกถา "เกษตรในเมือง ความสำคัญ ความท้าทาย สู่เป้าหมายที่ยั่งยืน" ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันคนในเมืองได้หย่าร้างกับธรรมชาติไปนาน ทั้งที่แท้จริงแล้วเกษตรอยู่คู่เมืองมาตั้งแต่แรกเริ่มของการกำเนิดเมืองในโลกด้วยซ้ำ กล่าวคือในยุคโบราณ การทำเกษตรที่นำไปสู่การกระจายอาหารเกิดขึ้น คือพื้นที่ในเมือง ขณะที่พื้นที่นอกเมืองไม่ใช่พื้นที่เกษตรแต่คือพื้นที่ป่าและทุ่งหญ้า ดังนั้นการทำเกษตรในเมือง ในแต่ละชุมชน จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการรื้อทักษะเก่าของคนเมืองเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน สร้างสุขภาพที่ดีจากการทำเกษตรไร้สารเคมี

ทั้งนี้การส่งเสริมเกษตรจะช่วยสร้างผลสะเทือนต่อการพัฒนาเมืองยั่งยืนอย่างน้อย 4 มิติ ได้แก่ 1.เกษตรในเมือง ทำให้เราตั้งคำถามกับเส้นแบ่งเรื่องเมืองกับชนบทที่ "ถูก" ขีดขึ้นและนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในเชิงโครงสร้างมาหลายศตวรรษ

2. ในขณะที่เราคิดตั้งคำถามเรื่อง "ปริมาณ (volume)" และ "ขนาด (scale)" ของการผลิตแบบนี้ใน "ระบบใหญ่" เราได้ฉุกคิดว่าระบบต่างๆ มันจะ "ปกติ" ไปตลอดหรือไม่ กลุ่มคนที่อยู่ในขบวนของการส่งเสริมเกษตรในเมืองเป็น "นักอนาคต (Futurists)" ของจริง ซึ่งเตรียมรับมือในยามเกิดภัยพิบัติ

3.ในโลกที่ถูกทำให้ซับซ้อน กลุ่มคนที่อยู่ในขบวนของการส่งเสริมเกษตรในเมืองชวนตั้งคำถามเรื่อง "ความเป็นมนุษย์" พวกเขาชวนให้เห็นถึงความสำคัญของการมีวิชาและทักษะแห่งการอยู่รอด การพึ่งพาตนเอง

4.เกษตรในเมืองเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลง (transform) ตัวเองและคนรอบข้าง เป็นการ "ลงมือทำธิปไตย (do-mocracy)"

เกษตรในเมืองจึงนับเป็นแกนกลางของความหวัง เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการเปิดรับความเป็นไปได้ต่างๆ ทั้งนี้ วิถีของเกษตรในเมืองยังเป็นวิถีแห่งความละเมียดละไม เช่น การสนับสนุนวิถีการบริโภคแบบช้าๆ (slow food) ซึ่งน่าจะลดทอนความไปเร็วมาเร็วของเมืองในทุกวันนี้ได้บ้าง และที่สำคัญที่สุด เกษตรในเมืองน่าจะช่วยเป็นเสมือนเรือชูชีพ (Lifeboats) ของคนเมือง ที่พอจะทำให้พวกเขาอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤติ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) องค์การสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ความต้านทานและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างครอบคลุมและยั่งยืน

สำหรับการเสวนาวิชาการครั้งที่ 1 ถือเป็นครั้งครั้งแรกของการเสวนาด้านอาหารเกษตรในเมืองเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นเวทีแรกที่จะนำองค์ความรู้ ข้อคิดในมุมวิชาการ ประสบการณ์ตรงของเครือข่ายมาแลกเปลี่ยนกันเพื่อนำเสนอในเชิงนโยบาย

นอกจากนี้ยังมีผลงานของกลุ่ม ผลงานวิชาการมาเผยแพร่ การถอดบทเรียนของโครงการต่างๆ ซึ่งโครงการสวนผักคนเมืองได้สนับสนุนทุนโครงการขนาดเล็ก ให้กับกลุ่ม ชุมชน องค์กรต่างๆ ที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมในปฏิบัติการสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยในเมือง สร้างพื้นที่รูปธรรม และสร้างพื้นที่ต้นแบบการทำเกษตรในเมืองที่เชื่อมโยงกับประเด็นการพัฒนาต่างๆ อาทิ สวนผักกับความมั่นคงทางอาหาร สวนผักกับการบำบัดเยียวยา สวนผักกับการการสร้างพื้นที่ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ของสังคม และสวนผักกับกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก โดยมีพื้นที่เป้าหมายอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งที่ผ่านมาเกิดพื้นที่รูปธรรมขึ้นมากกว่า 200 แห่ง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version