งานวิจัยชิ้นแรกที่ดึงดูดความสนใจจากการเข้าชมงาน คือ "โพลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูง" ซึ่งเป็นโพลิเมอร์ที่ผลิตจากแป้งมันสำปะหลัง นำมาผ่านการฉายรังสีแกมม่า เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลและลักษณะทางกายภาพของแป้งมันสำปะหลังให้ไม่ละลายน้ำ แต่บวมน้ำได้ดี โดยสามารถดูดซึมน้ำได้ปริมาณประมาณ 200 เท่าเมื่อเทียบกับน้ำหนักแห้ง ซึ่งพอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูงนี้ สามารถนำมาใช้ผสมดินเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติในการอุ้มน้ำในแปลงปลูกพืชที่มีพื้นที่แห้งแล้ง หรือสามารถใช้เพื่อปลูกพืชในคอนโดหรือที่อยู่อาศัย ซึ่งสามารถช่วยลดความถี่ในการรดน้ำต้นไม้ได้เป็นอย่างดี เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนเมืองที่เดินทางบ่อย หรือไม่ค่อยมีเวลาในการดูแลพืชที่ปลูกไว้ ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาของโพลีเมอร์ดูดซึมน้ำสูงยังมีราคาที่สูงอยู่ แต่ในอนาคตคาดว่าจะสามารถผลิตได้ในราคาที่ถูกลงและสามารถใช้งานได้อย่างแพร่หลายต่อไป
โดยนอกจากที่เทรนด์การศึกษาของวงการนิวเคลียร์ในช่วง 2 ปีนี้จะมุ่งเน้นไปที่ด้านสิ่งแวดล้อมและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในด้านต่าง ๆ แล้ว ก็ยังมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีแผ่ถึงรูปแบบการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียในภาวะวิกฤตจากภัยพิบัติ ซึ่งสร้างการตระหนักถึงผลกระทบของการเสพข้อมูลข่าวสารจากโลกโซเชียลได้ไม่น้อย โดยนายจุน ชวง (Mr. Jun Zhuang) จาก University at Buffalo เปิดเผยผลงานวิจัยบนเวทีการประชุมนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ว่าได้ทำการศึกษาการแพร่กระจายของข่าวลือบนสื่อสังคมในช่วงภัยพิบัติ โดยระบุว่า ในปัจจุบัน ประชากรโลกมีการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารในช่วงเวลาวิกฤตระหว่างเกิดภัยพิบัติ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ข่าวลือกลับแพร่สะพัดไปได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับข่าวลือที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริงนั้นกลับได้รับการระบุว่าเป็นประเด็นสำคัญของการสื่อสารบนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ
โดยงานวิจัยได้ศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เมื่อต้องเผชิญกับข่าวลือและข้อมูลที่สื่อสารเพื่อแก้ไขข่าวลือ การวิจัยนี้มุ่งเน้นศึกษาประสิทธิภาพของการสื่อสารในภาวะวิกฤต วิธีการพูดถึงซ้ำ และการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องในภาวะวิกฤต ซึ่งพบว่า มีการใช้สื่อทวิตเตอร์หลายล้านทวีตระหว่างการเกิดเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์, เฮอร์ริเคนเออร์มาร์ และเฮอร์ริเคนแซนดี้ ประการที่สอง นักวิจัยพบพฤติกรรมการตอบสนองและพฤติกรรมการแก้ไขข้อมูลของผู้ใช้ทวิตเตอร์ในช่วงพายุเฮอร์ริเคนแซนดี้ในปี 2012 และการระเบิดที่บอสตันมาราธอนในปี 2013 โดยพบว่าสำหรับผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่มีความเข้าใจผิดในข้อมูล จะมีการ ค้นหาและยืนยันข้อเท็จจริงของข้อมูลเพียง 9%, จะแสดงออกถึงความสงสัยหรือเพิ่มความสงสัยในข้อมูลที่ได้รับเพียง 10%, จะมีการชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมด้วยทวีตใหม่ 19% และมีผู้ใช้ทวิตเตอร์มากถึง 78% ที่ไม่ทำอะไรเลยกับข่าวลือที่ได้รับหรือสื่อสารออกไป
งานวิจัยทั้งสองเรื่องถูกนำเสนอในการประชุมนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 จัดโดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา