รองศาสตราจารย์ ดร. นันทนา คชเสนี รักษาการประธานคณะกรรมการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการประกันคุณภาพการศึกษา (Acting Chairperson of AUN-QA Council) กล่าวว่า เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการประกันคุณภาพการศึกษา (ASEAN University Network Quality Assurance: AUN-QA) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2541 เพื่อให้เป็นกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาและสร้างมาตรฐาน ระดับหลักสูตรสำหรับมหาวิทยาลัยสมาชิกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาจนเป็นที่เป็นที่ยอมรับ ในระดับสากลทั่วทั้งภูมิภาค ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยสมาชิกหลัก 30 มหาวิทยาลัยและสมาชิกสมทบ 74 มหาวิทยาลัย จาก 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยมีแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อให้สอดคลองกับกิจกรรม ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งการย้ายโอนนักศึกษาหรือการเทียบเคียงหน่วยกิต ซึ่งถือเป็นการสร้างมาตรฐานร่วมกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักสูตรอุดมศึกษาในภูมิภาค การรับรองมาตรฐาน AUN-QA จะอยู่ได้ 5 ปี เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้มีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ให้ทันสมัยตามเกณฑ์มาตรฐาน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าปัจจุบัน สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานและสังคมโลก เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถ ประกอบอาชีพได้ สร้างนวัตกรรมเป็น เพื่อตอบสนองตลาดแรงงานทั้งในระดับประเทศและในภูมิภาคอาเซียน การบริหารจัดการกับความท้าทายดังกล่าว เชื่อว่าการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อการรักษาและยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาตามมาตรฐานสากล มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้มีการดำเนินการประกันคุณภาพมาอย่างต่อเนื่องทั้งการประกันคุณภาพภายใน (Internal Quality Assurance: IQA) และการประกันคุณภาพภายนอก (External Quality Assurance: EQA) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับหลักสูตร มหาวิทยาลัยมหิดลใช้แนวทางการจัดการศึกษาแบบมุ่งผลลัพธ์ (Outcome based Education) และใช้เกณฑ์ประกันคุณภาพการศึกษาของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN-QA) รวมถึงการใช้เกณฑ์มาตรฐานเฉพาะสาขาอื่นๆ เช่น WFME, AACSB, ABET, MUSIQUE, TedQual เป็นต้น
การที่หลักสูตรของมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพระดับหลักสูตรตามเกณฑ์ AUN-QA ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดลที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการนำการศึกษาของไทยสู่การยอมรับในระดับนานาชาติ เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากลสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก (World Class University)
โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล มีหลักสูตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพระดับหลักสูตร 7 หลักสูตร จากการประเมิน 2 ครั้ง ได้แก่
1. การประเมินฯ ครั้งที่ 103 ระหว่างวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2561 จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่
1. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีวเคมี (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์
2. หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
3. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการบริการนานาชาติ (หลักสูตรนานาชาติ) วิทยาลัยนานาชาติ
2. การประเมินฯ ครั้งที่ 121 ระหว่างวันที่ 25-27 กันยายน 2561 จำนวน 4 หลักสูตร ได้แก่
1. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด
2. หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
3. หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
4. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการระบาดคลินิก (หลักสูตรนานาชาติ) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ทุกส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยได้ร่วมกันพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งผลลัพธ์ Outcome-based Education โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมให้บัณฑิตมีความรู้ในทักษะวิชาชีพ (รู้ลึก) และทักษะชีวิตและการทำงาน (รู้กว้าง) รวมถึงมีศักยภาพตามความต้องการของสังคมอนาคต เป็น Talented Citizen ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ซึ่งนอกจากการจัดการเรียนการสอนแล้ว การวัดและประเมินผลผู้เรียนให้ได้ตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง (Expected Learning Outcomes) ก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยมีการนำเกณฑ์ AUN-QA มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง