มร.ไซมอน แมททิวส์, ผู้จัดการประจำประเทศไทย, แถบตะวันออกกลาง และเวียดนาม แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ผู้นำที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมแรงงานกว่า 80 ประเทศทั่วโลก และในประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจระดับโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว จะเห็นได้จากเศรษฐกิจประเทศจีนชะลอตัวและยังมีเรื่องของสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน ส่วนในประเทศไทย ล่าสุดประกาศให้มีการเลือกตั้งและนโยบายการลงทุนด้านการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor Development (EEC) อย่างต่อเนื่องของภาครัฐ นับเป็นช่วงที่ต้องมองทิศทางประเทศไทยปีนี้ อันมีปัจจัยภายนอกหลายอย่างที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยได้ อย่างไรก็ตามประเทศไทยควรมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ โดยจะต้องมีการส่งเสริมพัฒนาคนด้านทักษะแรงงานและด้านการศึกษา อีกทั้ง จากการที่ภาครัฐได้กำหนดนโยบายการปฏิรูประดับประเทศโดยเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ที่เป็นการพัฒนาและต่อยอดกลุ่มธุรกิจเดิมที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะทักษะความรู้ทางด้านเทคโนโลยี (High-Tech Skill) ซึ่งเป็นที่ต้องการสูงมากในปัจจุบัน
จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนและการแข่งขันทางธุรกิจ หลายองค์กรมุ่งการบริหารจัดการบุคลากรอย่าง มีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับการให้บริการของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ในบทบาทที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมแรงงาน เราพัฒนาบริการและโซลูชั่นที่มีความยืดหยุ่นรองรับกับลูกค้าทุกกลุ่มธุรกิจ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ด้วยการบริการหลากหลายรูปแบบ ทั้งการจ้างงานแบบประจำ งานชั่วคราว งานสัญญาจ้าง รวมไปถึง งานรับเหมาประเภทต่างๆ นอกจากนี้ ยังตอบโจทย์ยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ด้วยการให้บริการแรงงานข้ามชาติ (Borderless Talent Solutions) และการให้บริการสรรหาผู้บริหารระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะทาง (Experis) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการสูงในปัจจุบัน ถือว่าสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ EEC ที่ต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านด้านต่างๆ รองรับการลงทุนจากทั้งจากภาครัฐ เอกชนและนักลงทุนต่างชาติ
สำหรับผลประกอบการของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ในปี 2561 มีการเติบโต 12 เปอร์เซ็นต์ ผลประกอบการในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท และยังมีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการของแมนพาวเวอร์กรุ๊ปอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังได้ทำการสำรวจกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการเพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการที่ตรงกับความต้องการลูกค้าเสมอมา
นายวรรณชัย ไพบูลย์บารมี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เดินหน้าขยายงานทั้งในส่วนของการบริการ การพัฒนาด้านนวัตกรรมแรงงาน และจัดหาแรงงานที่ตอบโจทย์ตลาด โดยได้รับการตอบรับที่ดีด้วยความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และแรงงานทุกระดับ โดยครอบคลุมตั้งแต่องค์กรขนาดใหญ่จนถึงเอสเอ็มอี ปัจจุบัน แมนพาวเวอร์กรุ๊ปมีสัดส่วนลูกค้าแบ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ 35 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้บริการสรรหาบุคลากรด้านการขายและการบริการลูกค้า กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมด้านการผลิตและโลจิสติกส์ 25 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มเอสเอ็มอี 15 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังมีกลุ่มแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง 15% ซึ่งยังมีบริการพิเศษเฉพาะกลุ่มซึ่งเป็นสายงานที่ต้องการแรงงานเฉพาะทาง เข้ามาตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 อาทิ ทักษะความเชี่ยวชาญด้านโรโบติกส์ กลุ่มนี้มีการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ และกลุ่มอื่นๆ อีก 10%
ทั้งนี้ เรามีกลยุทธ์ 3 ส่วนหลักในการรับมือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ คือ 1. มุ่งเน้นการบริการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง 2. การพัฒนาบุคลากรของเราให้มีความเชี่ยวชาญและปลูกฝังวัฒนธรรมแห่งการมีนวัตกรรมในองค์กร 3. การพัฒนาด้านเทคโนโลยีในกระบวนการด้านทรัพยกรบุคคลเชื่อมต่อกับพนักงาน ลูกค้าและผู้สมัครงานเพื่ออำนวยความสะดวกและง่ายต่อการเข้าถึง
"สำหรับบริการที่แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี คือ บริการ "บิสซิเนสโซลูชั่น (Business Solutions)" ที่มาช่วยตอบโจทย์ในเรื่องของการบริหารจัดการแรงงานในเชิงนวัตกรรม คำนึงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของลูกค้า โดยแมนพาวเวอร์กรุ๊ป เข้าไปทำงานร่วมกับลูกค้าในการบริหารจัดการกลุ่มแรงงานที่ลูกค้าต้องการด้วยการบริหารเชิงผลลัพธ์ผ่านตัวชี้วัดของงาน ซึ่งเป็นบริการแบบเต็มรูปแบบ ทำให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่าย และยังลดภาระด้านการบริหารจัดการแรงงานด้วย พร้อมยังมีบริการส่งออกแรงงานเพื่อรองรับการขยายธุรกิจของลูกค้าที่มีการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม AEC ถือเป็นแผนรับมือของแมนพาวเวอร์กรุ๊ปที่สอดคล้องกับเทรนด์ธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในยุค 4.0 " นายวรรณชัย กล่าว
ทางด้านนางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า จากผลการสำรวจอัตราความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันมีสัดส่วนความต้องการจัดเป็น 10 อันดับ ดังนี้
10 อันดับสายงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ได้แก่ 1. งานขายและการตลาด 22.65 เปอร์เซ็นต์ 2. งานบัญชีและการเงิน 12.16 เปอร์เซ็นต์ 3. งานวิศวกร และการผลิต 8.62 เปอร์เซ็นต์ 4. งานไอที 8.11 เปอร์เซ็นต์ 5. งานธุรการ 7.15 เปอร์เซ็นต์ 6. งานบริการลูกค้า 6.39 เปอร์เซ็นต์ 7. งานระยะสั้นต่างๆ 6.28 เปอร์เซ็นต์ 8. งานระดับผู้บริหาร 5.63 เปอร์เซ็นต์ 9. งานทรัพยากรบุคคล 5.02 เปอร์เซ็นต์ 10. งานโลจิสติกส์ 3.04 เปอร์เซ็นต์
10 อันดับแรกสายงานที่เป็นที่ต้องการของแรงงาน ได้แก่ 1. งานขายและการตลาด 22.57 เปอร์เซ็นต์ 2. งานวิศวกร 13.42 เปอร์เซ็นต์ 3. งานธุรการ 11.48 เปอร์เซ็นต์ 4. งานทรัพยากรบุคคล 8.66 เปอร์เซ็นต์ 5. งานบัญชีและการเงิน 8.57 เปอร์เซ็นต์ 6. งานบริการลูกค้า 8.26 เปอร์เซ็นต์ 7. งานโลจิสติกส์ 6.42 เปอร์เซ็นต์ 8. งานไอที 4.73 เปอร์เซ็นต์ 9. งานระดับผู้บริหาร 4.18 เปอร์เซ็นต์และ 10. งานด้านการผลิต 4.14 เปอร์เซ็นต์
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจการบริการ ได้แก่ ขนส่งและโลจิสติกส์ , ค้าปลีกค้าส่ง, บริการเฉพาะกิจ และที่ปรึกษาด้านต่างๆ รองลงมาคือ ธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่
ยานยนต์ , วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร, ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ อันดับสาม คือ ธุรกิจด้านเทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ "อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของสถานการณ์ตลาดแรงงานแม้จะอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่อัตราการว่างงานลดลงเมื่อเทียบระหว่างปี 2561 กับ 2562 อยู่ที่ 0.04 เปอร์เซ็นต์ โดยมีปัจจัยบวกจากการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นนโยบายการปฏิรูปประเทศไทย และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ทำให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ตลาดแรงงาน และภาคการศึกษา ทุกฝ่ายตื่นตัว มีการตั้งรับและวางแผน รวมถึงบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนตนเอง องค์กรและประเทศไทยก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน นับว่าเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องรับมือให้ทันกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป" นางสาวสุธิดา กล่าวทิ้งท้าย