นายลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคนมจะประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องมีการทำงานที่มีการบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม สหกรณ์โคนม ภาคเอกชน และภาครัฐ ได้แก่ ส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดสระบุรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นโมเดลแห่งความสำเร็จที่สวยงามในการร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมของประเทศไทย
สำหรับในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความตั้งใจจริงที่จะให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในการผลิตน้ำนมดิบที่มีคุณภาพ ซึ่งได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นมปี 2560 - 2569 โดยมุ่งสร้างอุตสาหกรรมโคนมไทยทั้งระบบให้ได้มาตรฐานสากลภายใน 10 ปี ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ ที่ 1 การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและองค์กรโคนม ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาการผลิตน้ำนมโคและอุตสาหกรรมโคนมให้ได้มาตรฐานสากล ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการบริโภคนมและพัฒนาผลิตภัณฑ์นมเพื่อการแข่งขันระดับนานาชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการใช้ประโยชน์ และยุทธศาสตร์ที่ 5 การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้การเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกร โดยยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นมฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งในองค์กรโคนม และบูรณาการการบริหารจัดการอุตสาหกรรมโคนมของประเทศ อีกทั้งเพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรในการผลิตน้ำนมโค และพัฒนาระบบอุตสาหกรรมนมของประเทศให้ยั่งยืน มีมาตรฐานปลอดภัยต่อผู้บริโภค และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้