ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวในโอกาสเปิดการสัมมนา MDES/CICC Joint Seminar ซึ่งจัดโดยกระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านงานคอมพิวเตอร์ (CICC) แห่งประเทศญี่ปุ่น และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ว่า เป็นโอกาสอันดีของกระทรวงฯ ที่ได้มีส่วนร่วมจัดงานสัมมนาระดับนานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวคิดริเริ่มด้านแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ และนวัตกรรม ความรู้เชิงเทคนิค และแนวปฏิบัติที่ดีในการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่มีเทคโนโลยีด้านไอซีทีเป็นศูนย์กลาง เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม
การสัมมนาครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดริเริ่มในการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมแอพพลิเคชั่นด้านสารสนเทศและการสื่อสาร (IT) ใหม่ๆ และแนวทางแก้ไขปัญหา (Solutions) ระหว่างหน่วยงานที่มีส่วนได้ส่วนเสียของไทยและญี่ปุ่น กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมภาคธุรกิจ IT ในการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ แนวคิดริเริ่มในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมในด้าน IoT, AI, Big Data และ Blockchain Technology ทั้งนี้ กระทรวงฯ จะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากเวทีนี้ไปประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดิจิทัลของไทยอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ดร.พิเชฐ กล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) จะขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรม และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน ที่ผ่านมารัฐบาลมีการทำงานในเรื่องนี้หลายโครงการเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 และดิจิทัล ไทยแลนด์ อันเป็นนโยบายสำคัญ ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล กำลังคนดิจิทัล รัฐบาลดิจิทัล การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
"หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ได้แก่ โครงการเน็ตประชารัฐ ซึ่งมีการวางโครงข่ายบรอดแบนด์ครอบคลุมทั่วถึง 75,000 หมู่บ้านในประเทศไทย โครงการจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปีนี้ ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ได้ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในหลากหลายด้าน ได้แก่ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเข้าถึงบริการภาครัฐ การเพิ่มโอกาสค้าขายผ่านอี-คอมเมิร์ซ การค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะสร้างรายได้และการจ้างงานให้กับชุมชนท้องถิ่น" ดร.พิเชฐกล่าว
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการสร้างทักษะความรู้ด้านดิจิทัลให้กับคนในชุมชนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด สร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาวและยั่งยืน โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดหลักสูตรอบรมการรู้เท่าทันดิจิทัล ให้ความรู้พื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ต และการใช้งานแอพพลิเคชั่นบนอินเทอร์เน็ตกับประชาชนในหมู่บ้านที่มีเน็ตประชารัฐเข้าถึง เพื่อสามารถต่อยอดสร้างอาชีพได้ ปัจจุบันจัดอบรมไปแล้ว 1 ล้านคน ขณะเดียวกัน ได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนในโครงการ "Coding Thailand" ส่งเสริมให้เยาวชนไทยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และความคิดสร้างสรรค์ โดยจัดทำแพลตฟอร์มการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ให้เยาวชนมีโอกาสได้เรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา และสามารถก้าวทันเทคโนโลยี รู้เท่าทัน และสร้างสรรค์การใช้เทคโนโลยี
ดร.พิเชฐ ยังได้กล่าวถึงโครงการสมาร์ทซิตี้ ซึ่งสะท้อนชัดเจนถึงการก้าวสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ของประเทศไทยว่า ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วใน 7 เมือง ได้แก่ ภูเก็ต ขอนแก่น เชียงใหม่ กรุงเทพ รวมถึงฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยจะนำโซลูชั่นด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีมายกระดับชีวิตความเป็นอยู่ สร้างความยั่งยืน และการบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มการทำงานร่วมกันในรูปแบบรัฐ-เอกชน (PPP) และส่งเสริมผู้ประกอบการดิจิทัลรุ่นใหม่ (ดิจิทัล สตาร์ทอัพ)
อีกทั้ง อยู่ระหว่างการจัดตั้งสถาบันไอโอทีและนวัตกรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางของประเทศไทยในการพัฒนา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT, Big Data, Robotics และปัญญาประดิษฐ์ (AI) คาดว่าจะมีองค์กรเข้าร่วมมากกว่า 300 ราย ครอบคลุมทั้งบริษัทเอกชน สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยต่างๆ สร้างให้เกิดเครือข่ายความเป็นเลิศด้าน IoT สถาบันแห่งนี้ ยังเป็นแหล่งพัฒนาโซลูชั่นด้านดิจิทัล และให้คำปรึกษาทางเทคนิค สำหรับภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มธุรกิจต่างๆ ได้แก่ ยานยนต์ เกษตรกรรม อาหาร และสุขภาพ
ล่าสุด ประเทศไทย ร่วมเป็นพันธมิตรกับหัวเว่ย และทำงานร่วมกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมหลายราย เดินหน้าศูนย์ปฏิบัติการทดสอบระบบ 5จี (5G Testbed) ที่ จ.ชลบุรี ในพื้นที่อีอีซี เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้งานจริงในปี 2563 โดยถือเป็นวาระสำคัญของประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0
"นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีเหล่านี้จะสร้างประโยชน์สูงสุดได้ ต้องไม่จำกัดอยู่เพียงการสร้างเศรษฐกิจ การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะยาวเท่านั้น แต่ต้องสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับทุกคนในยุคดิจิทัล ให้ก้าวสู่ความสำเร็จในอนาคตดิจิทัลได้ด้วย" ดร.พิเชฐกล่าว
น.พ.พลวรรธน์ วิฑูรกลชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวเสริมเกี่ยวกับโครงการเน็ตประชารัฐว่า เป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อรองรับเป้าหมายระยะยาว 20 ปี ในการสร้างภูมิทัศน์ดิจิทัลของประเทศไทย โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เข้าถึงชุมชนระดับหมู่บ้านได้อย่างทั่วถึงภายใน 2 ปี ทำให้เกิดการแบ่งปันประสบการณ์ดิจิทัลไปยังคนในพื้นที่ชนบท ทำให้สามารถส่งต่อบริการดิจิทัลไปถึงคนเหล่านั้นได้ อีกทั้งยังช่วยเร่งความเร็วของแผนงานในระยะที่ 2 ซึ่งเคยตั้งเป้าให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังไว้ในระยะเวลา 5 ปีให้เกิดขึ้นได้เร็วขึ้น ส่วนแผนงานระยะ 3 และ 4 ของเป้าหมาย 20 ปีนี้ ก็คือ การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเต็มรูปแบบ (Digital Transformation) และการยกระดับสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการเป็นหนึ่งในประเทศแถวหน้าของโลกด้านดิจิทัล ตามลำดับ
มร.ฮิโรชิ โยชิดะ รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักนโยบายอุตสาหกรรมและการค้า กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) กล่าวถึงยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของญี่ปุ่นว่า ปัจจุบันมีการตั้งเป้าหมายที่จะมุ่งไปสู่ Society 5.0 ผ่านการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เป็นผลต่อเนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุค 4.0 ได้แก่ IoT, AI และ Big Data รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศกรอบแนวคิดที่ว่าด้วย "Connected Industries" หรือการเชื่อมโยงของอุตสาหกรรม ทั้งในด้านคน เครื่องจักร ระบบ และบริษัทต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ๆ และร่วมหาแนวทางแก้ป้ญหาในภาคอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลจะมีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในหลายโครงการ
มร.อากิฮิโระ โอฮาชิ กรรมการบริหาร บริษัท ฮิตาชิ เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เมื่อปี 2561 ฮิตาชิ ได้จัดตั้งศูนย์ Lumada Center Southeast Asia ขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ในจ.ชลบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อีอีซี เพื่อขานรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมและสังคมดิจิทัลสำหรับประเทศไทย ศูนย์แห่งนี้เปิดให้บริการด้าน IoT เป็นเป้าหมายหลัก โดยจะทำงานร่วมกับลูกค้าเพื่อพัฒนาโรงงานอัจฉริยะขั้นสูง (Advanced Smart Manufacturing), Digital Supply Chain และโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมในด้านต่างๆ