อาจารย์โอภาส อิสโม ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการนำวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ ไปจัดแสดงในงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 19 "สืบสานวัฒนธรรมนาฏลีลา เฉลิมพระเกียรติพระราชาแห่งแผ่นดินศิลปะและวัฒนธรรม" ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า มรภ.สงขลา ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ให้เป็นตัวแทนภาคใต้เดินทางไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมท้องถิ่นร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ โดยได้นำการแสดงที่มีชื่อว่า "นาฏลักษณ์ทักษิณ" อันเป็นการแสดงที่นำเสนออัตลักษณ์ของโนราในภาคใต้ ใช้วิธีการผสมผสานให้เข้ากับยุคสมัยโนราในปัจจุบัน ทั้งบทกลอน ท่ารำที่โดดเด่น และการแสดงเป็นเรื่องราว
อาจารย์โอภาส กล่าวว่า การแสดงชุดนี้กล่าวถึงตำนานโนราเรื่องแม่นวลทองสำลี สอนโนราให้กับบุตรชายที่มีชื่อว่าเทพสิงขรหรือพ่อขุนศรีศรัทธา องค์ประถมโนราบุคคลแรกเริ่มในภาคใต้ โดยถ่ายทอดบทบาทผ่านนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ โปรแกรมวิชานาฏศิลป์ ชั้นปีที่ 2 และนักดนตรีโปรแกรมวิชาดนตรีไทย ชั้นปีที่ 1 โดยเรื่องราวของโนราในภาคใต้ที่นำไปแสดงนั้นมีทั้งหมด 3 ช่วงด้วยกัน ช่วงที่ 1 ตำนานการเกิดโนรา ช่วงที่ 2 การถ่ายทอดโนรา และ ช่วงที่ 3 โนราในสังคมภาคใต้ ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตนเองได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้น ยังมีการแสดงในชุดอื่นๆ อย่างระบำชนไก่ ซึ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ได้เป็นอย่างดี
ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า กิจกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นในงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 19 ประกอบด้วย ชุดการแสดง "สืบสานวัฒนธรรมนาฏลีลาเฉลิมพระเกียรติพระราชาแห่งแผ่นดิน" โดยกลุ่มมหาวิทยาลัยภาคกลางและภาคใต้ ส่วนกลุ่มภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โชว์ในชุดการแสดง "นเรนทราทิตย์ วีรกษัตริย์ผู้ทรงธรรม" ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นการแสดงวัฒนธรรมจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 80 แห่ง รวมถึงการเสวนาเรื่อง "พลังและคุณค่าของประวัติศาสตร์กับการสร้างสรรค์วรรณกรรมร่วมสมัย" โดย รอมแพง ผู้ประพันธ์เรื่อง บุพเพสันนิวาส อีกด้วย
ด้าน อาจารย์กมลนาวิน อินทนูจิตร รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสมาร่วมงานเผยแพร่ทางด้านศิลปวัฒนธรรมกับสำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา ทำให้ได้เห็นการเตรียมตัวทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ตลอดจนความตั้งใจในการถ่ายทอดจากครู เพื่อสร้างประสบการณ์ให้แก่ศิษย์ ขณะเดียวกันศิษย์รุ่นใหม่ก็พร้อมดำเนินรักษาศิลปะและวัฒนธรรมไว้ เพราะศิลปะและวัฒนธรรมคือหลักฐานรากเหง้าความมีตัวตนของเผ่าพันธุ์เราว่าอยู่นานมาเป็นพันปี คือสื่อที่เราได้รับการถ่ายทอดจากบรรพชนที่มีรูปแบบประวัติความเป็นมาอย่างเด่นชัด
"พระศิวะร่ายรำเพื่อสร้างโลกคงเป็นเรื่องจริง ท่วงท่ารำของโนรามาจากชาวสวรรค์ไกรลาสคงเป็นเรื่องจริง คำกล่าวบทกลอนที่ว่า ทุกคนตะลึงในความงามในท่ารำของชาวไกรลาสเหมือนต้องมนต์ เพราะนี่คือท่ารำนางฟ้า นางสวรรค์ คือเรื่องจริง จากมุมที่ผมมองเห็นทันทีที่จบการแสดงมีผู้ใหญ่หลายท่านเข้าสวมกอดผม บอกขอบคุณที่มาแสดงให้เขาดู ทั้งชีวิตไม่เคยได้เห็นอะไรที่สวยงามขนาดนี้มาก่อน ผมรู้สึกภูมิใจแทนลูกศิษย์ ภูมิใจในฐานะผู้บริหารสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา ภูมิใจในรากฐานของสำนักศิลปะฯ ที่วางไว้ดีมาก และต้องขอขอบคุณในฐานะลูกหลานพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ที่ให้โอกาสคนถิ่นเมืองปราสาทได้มีโอกาสเห็นท่ารำโนราสวรรค์ไกรลาส" อาจารย์กมลนาวิน กล่าว