นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่า ปิดทองหลังพระฯ ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อศึกษาและพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรมของชาวกะหร่าง ที่บ้านโป่งลึกและบางกลอย ซึ่งในขณะนี้เข้าสู่ปีที่สองและชุมชนมีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้ว
บ้านโป่งลึกและบางกลอยบนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานยังเป็นชุมชนที่อนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมไว้เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อรวมกับธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ของป่าแก่งกระจาน ทำให้เป็นสินค้าท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ"ชาวบ้านเองก็มีความดีใจที่จะเข้าสู่บริการด้านท่องเที่ยว เพราะภูมิใจที่จะนำเสนอวัฒนธรรมของเขา เด็กเล็กและเยาวชนก็กระตือรือร้นเข้ามาเรียนรู้ด้านดนตรีและการแสดงจากผู้ใหญ่"
ดังนั้นกลุ่มท่องเที่ยวบ้านโป่งลึก บางกลอย จึงมีชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรม 184 ครัวเรือน หรือคิดเป็น 100% ของประชากรที่อาศัยอยู่ประจำในป่าแก่งกระจาน ทั้งนี้ได้ร่วมกันจัดโครงสร้างการทำงานในด้านต่างๆประกอบด้วย กลุ่มล่องแพ 43 คน กลุ่มแม่บ้าน 29 คน กลุ่มกางเต็นท์ 26 คน กลุ่มกล้วยตาก 13 คน กลุ่มการแสดงและดนตรี 34 คน เป็นต้น
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุพรรณี บุญเพ็ง อาจารย์ประจำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ดำเนินงานโครงการกล่าวว่า การทำงานในกิจกรรมต่างๆ ของพื้นที่บ้านโป่งลึก และบ้านบางกลอย จะดำเนินการไปอย่างเหมาะสม ค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรีบเพื่อป้องกันปัญหาจากบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาหาประโยชน์จากการท่องเที่ยววิถีชุมชนในรูปแบบธุรกิจมากเกินไป ชุมชนต้องมีการสร้างเอกลักษณ์ที่เป็นของตนเอง
"ที่นี่มีจุดเด่นของการท่องเที่ยวคือโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ (กะหร่าง)ที่ยังคงรักษาไว้อย่างดั้งเดิม ทั้งบ้านเรือน อาหาร การแต่งกาย ประเพณี และการละเล่น ทั้งยังมีทุนทางธรรมชาติที่งดงาม สามารถมีกิจกรรมล่องแพแม่น้ำเพชรบุรีได้ดีด้วย"
นักท่องเที่ยวจะได้ร่วมกิจกรรมกับชาวบ้าน เช่นการล่องแพไม้ไผ่ในแม่น้ำเพชรบุรี ชมการแสดงดนตรี รับประทานอาหารพื้นเมือง ชิมกาแฟกะหร่าง เป็นต้น ในการสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจท่องเที่ยวของชุมชน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานรับเป็นศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการกระจายนักท่องเที่ยวอย่างทั่วถึง โดยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โทรศัพท์ 091-0504461และ0 32-772311 ในเวลาราชการ
บ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอย เป็นพื้นที่ต้นแบบการประยุกต์แนวพระราชดำริเพื่อพัฒนาพื้นที่โดยปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับจังหวัดเพชรบุรี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและหน่วยงานราชการในพื้นที่พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ โดยจัดหาแหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตร ปัจจุบันมีพื้นที่ที่มีน้ำใช้ตลอดปีจำนวน 454 ไร่และยังสามารถนำน้ำมาใช้ในการอุปโภค บริโภคในครัวเรือนด้วย และเกษตรกรมีรายได้จากการทำการเกษตรและพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงที่โครงการส่งเสริม เช่น ทุเรียน กาแฟ โดยในปีที่ผ่านมามีรายได้รวมกว่า 1.8 ล้านบาท