รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สิน และนวัตกรรม กำกับดูแลสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน พื้นที่สยามสแควร์ บนเนื้อที่ 63 ไร่ ซึ่งประกอบด้วยอาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงาน ตึกสูง และร้านค้าจำนวนมาก ถือเป็นแลนมาร์คสำคัญด้านการท่องเที่ยวใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยได้รับความนิยมเข้ามาใช้บริการของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการกว่า 280,000 คนต่อวัน
ปัจจุบันพื้นที่สยามสแควร์เต็มไปด้วยสายสื่อสารและอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ สาย Copper สาย Fiber Optic ตลอดจนเครื่องส่งสัญญาณ Wi-Fi โดยสายสัญญาณทั้งหมดถูกพาดบนเสาไฟฟ้า กันสาด และผนังอาคารมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ในขณะที่เสาไฟฟ้ามีพื้นที่ให้พาดในจำนวนที่จำกัด อีกทั้งการพาดสายดังกล่าว ไม่เป็นระเบียบ กล่าวคือสายสัญญาณบางส่วนที่ยกเลิกการใช้งานแต่ไม่ได้รับการปลดออก ส่งผลต่อทัศนียภาพที่ไม่สวยงามสะอาดตา สำนักงานฯ จึงมีนโยบายในการดำเนินการจัดระเบียบสายสัญญาณสื่อสารดังกล่าว ด้วยการนำสายสัญญาณสื่อสารดังกล่าวลงใต้ดิน โดยจะมีการจัดสร้างโครงข่ายพื้นฐานโทรคมนาคมด้วยการติดตั้งโครงข่ายเส้นใยแก้วนำแสง Fiber Optic Cable (FOC) ฝังในระดับใต้ดินเพื่อใช้ทดแทนสายสื่อสารเดิมทั้งหมด โดยได้มอบหมายให้บริษัททรู คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการหลักโดยร่วมกับผู้ให้บริการ Mobile Operator เช่น AIS DTAC และ Internet Operator ทุกรายในพื้นที่ โครงการดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จ ในเดือนเมษายน 2562 นี้ เพื่อเนรมิตรสยามสแควร์ให้เป็นสถานที่ไร้สายสื่อสารต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือว่าเป็นวันปีใหม่ของไทย
นอกจากนี้ยังมีแผนร่วมกับศูนย์ 5G AI/IOT INNOVATION CENTER โดยความร่วมมือของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำการติดตั้งเสาสัญญาณ ระบบ 5G เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านค้า และผู้ใช้บริการภายในสยามแสควร์ได้ทดลองใช้งาน ในพื้นที่สยามสแควร์ โดยจะเริ่มเปิดให้บริการในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ รวมทั้งสำนักงานโดยความร่วมมือกับการไฟฟ้า นครหลวง (กฟน.) ยังมีนโยบายทำการรื้อถอนเสาไฟฟ้า และ นำสายไฟฟ้าลงดินซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2563 เพื่อให้เป็นพื้นที่ไร้เสาไฟอย่างแท้จริง รองอธิการบดีกล่าว