สำหรับดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาเดือนมกราคม 2562 ลดลงจากเดือนมกราคม 2561 ร้อยละ 0.41 ซึ่งสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศน้อยกว่าผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ประกอบกับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบยังมีอยู่มาก และ ไก่เนื้อ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าความต้องการ ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว หัวมันสำปะหลังเริ่มทยอยออกสู่ตลาด ซึ่งไม่เพียงพอต่อคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากอยู่ในช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 (ข้าวโพดหลังนา) และ สุกร ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงรองรับนักท่องเที่ยวและวันหยุดต่อเนื่องช่วงต้นปี
ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนมกราคม 2562 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2561 ร้อยละ 5.21 สินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้านาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรด ปาล์มน้ำมัน ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ในขณะที่สินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง และหอมแดง
รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาถึงแนวโน้มดัชนีรายได้ของเกษตรกรในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 พบว่า เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ร้อยละ 4.83 เป็นผลมาจากดัชนีราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.51 โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสุกร และดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.27 โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ส่วนสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตออกมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ได้แก่ มันสำปะหลัง และหอมหัวใหญ่ ทั้งนี้ เดือนมีนาคม 2562 คาดว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรจะขยายตัวเล็กน้อย รวมทั้งดัชนีราคาและผลผลิตคาดว่าจะขยายตัวเช่นเดียวกันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา