นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำนอกเขตชลประทานในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งมีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวรอบที่ 2 (นาปรัง) กรมส่งเสริมการเกษตร วางแผนเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงใน 11 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ขอนแก่น สุโขทัย หนองบัวลำภู ศรีษะเกษ ชัยภูมิ อุทัยธานี อุตรดิตถ์ มหาสารคาม และสุพรรณบุรี ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 จนถึงปัจจุบัน เพื่อวางแนวทางให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชไร่และพืชผัก ซึ่งเป็นพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อย จำนวน 104,002 ไร่ กระจายอยู่ใน 11 จังหวัด 26 อำเภอ 71 ตำบล ซึ่งขณะนี้มีการเพาะปลูกพืชไร่และพืชผักในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว 61,842 ไร่ หรือร้อยละ 60 ของแผนที่วางไว้ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดังกล่าวลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การเพาะปลูก ตลอดจนแจ้งเตือนให้เกษตรกรติดตามข่าวสารสถานการณ์ที่เกี่ยวกับการปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งอย่างใกล้ชิด และหมั่นดูแลรักษาพืชตลอดจนความชื้นในแปลงที่ปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสามารถดูแลรักษาพืชที่ปลูกแล้วให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด และไม่ได้รับผลกระทบในฤดูแล้ง นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังเร่งสร้างความเข้าใจ ให้ข้อมูลข่าวสารแก่เกษตรกร และให้เกษตรกรร่วมวิเคราะห์แหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำในไร่นา ว่าเพียงพอสำหรับปลูกพืชตามแผนหรือไม่ เพื่อแนะนำให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย ได้แก่ พืชไร่ พืชผัก ทดแทน ซึ่งรายได้ดีกว่าการปลูกข้าวรอบที่ 2
ล่าสุดในพื้นที่ตามแผนการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชไร่และพืชผักทดแทนนาปรัง ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่ 11 จังหวัด เริ่มมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว พบว่าให้ผลตอบแทนสูงกว่าการปลูกข้าวนาปรัง เช่น พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำนอกเขตชลประทานในช่วงฤดูแล้ง จ.นครสวรรค์ มีผลตอบแทนเฉลี่ย ประกอบด้วย ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1,100 กก./ไร่ คิดเป็นรายได้ 7,700 บ./ไร่ กำไรไร่ละกว่าสามพันบาท ถั่วเขียว 120 กก./ไร่ รายได้ 2,880 บ./ไร่ กำไรไร่ละกว่าพันบาท แตงโม 4,000 กก./ไร่ รายได้ 36,000 บ./ไร่ กำไรไร่ละกว่าสองหมื่นบาท เมื่อเทียบกับ ข้าวนาปรัง ที่ให้ผลผลิต 670 กก./ไร่ รายได้ 4,020 บ./ไร่ กำไรไร่ละประมาณห้าร้อยบาท จากการลงพื้นที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า เกษตรกรที่ปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 พึงพอใจในผลตอบแทน เนื่องจากได้กำไรต่อไร่สูงกว่า อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรสนใจปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนข้าวนาปรัง รอบที่ 2 สามารถขอคำแนะนำและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักเกษตรอำเภอใกล้บ้าน