นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนวยการ อบก. เปิดเผยว่า ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ซึ่งทั่วโลกตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว ในส่วนของประเทศไทยตั้งเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 7-20 % ในปี 2563 และภายในปี 2573 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-25 % หรืออย่างต่ำ 111 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีอบก.ทำหน้าที่สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ที่ผ่านมา ภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และภาคธุรกิจซึ่งเป็นผู้ผลิต ให้ความใส่ใจร่วมลดก๊าซเรือนกระจก อาทิ ซีพีเอฟ เป็นตัวอย่างของธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารที่ช่วยลดและบรรเทาภาวะโลกร้อน มีการดำเนินโครงการลดการใช้พลังงาน เพิ่มการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลซึ่งเป็นพลังงานสะอาดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น และเข้าร่วมโครงการกิจกรรมสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกของอบก. เช่น การเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก(Low Emission Support Scheme: LESS ) การขอรับรองฉลากคาร์บอน เป็นต้น
ด้าน นายจารุบุตร เกิดอุดม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน มีการดำเนินโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่มี
นโยบายรณรงค์ประหยัดพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานตั้งแต่ปี 2547 และในปี 2559 บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายระยะยาวเพื่อลดการใช้พลังงานรวมต่อตันการผลิตและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงให้ได้ร้อยละ 15 ในปี 2563 เทียบกับปี 2558 ล่าสุดในปี 2561 สามารถลดการใช้พลังงานรวมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อตันการผลิตลดลงร้อยละ 6 และ 8 ตามลำดับ เป็นผลจากโครงการด้านพลังงานและการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน อาทิ การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลทดแทนถ่านหินในหม้อไอน้ำสายธุรกิจผลิตอาหารสัตว์บก และโครงการใช้ก๊าซชีวภาพในสายธุรกิจไก่เนื้อและไก่ไข่ ทำให้ซีพีเอฟประสบผลสำเร็จสูงสุดในการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนจากร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 25 ตามเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนของประเทศไทย และซีพีเอฟยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นในปีต่อๆไป
ทั้งนี้ ซีพีเอฟดำเนินโครงการด้านลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยระหว่างปี 2552- 2561 มีโครงการด้านลดการใช้พลังงานกว่า 350 โครงการ บริษัทฯ คาดว่าในปี 2562 สามารถลดใช้พลังงานรวมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อตันการผลิตเทียบกับปี 2558 เพิ่มเป็นร้อยละ 10 และ 12 ตามลำดับ จากการดำเนินโครงการต่าง ๆ อาทิ การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในระบบทำความเย็นและระบบปรับอากาศขนาดใหญ่ คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 5,354 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โครงการซีพีเอฟ โซลาร์ รูฟท็อป ซึ่งเป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาขนาด 40 เมกะวัตต์ (MW) โดยจะติดตั้งโรงงานแห่งแรกที่โรงงานแปรรูปไข่บ้านนา จังหวัดนครนายก และมีแผนจะดำเนินการทั้งหมด 34 หน่วยงานให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 28,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัท ฯ ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)กระทรวงพลังงาน จัดอบรมให้แก่ผู้ตรวจสอบและรับรองตรวจสอบการจัดการพลังงานตามกฎหมายของซีพีเอฟ (CPF Energy Auditor) พัฒนาความเชี่ยวชาญ เทคนิคการตรวจสอบการจัดการพลังงานให้มีความเป็นมืออาชีพ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยพัฒนาระบบการจัดการพลังงานของบริษัทฯให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น