สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประกาศความร่วมมือในงานวิจัยระยะเวลาสองปีร่วมกับไอบีเอ็ม เพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อยในประเทศไทย โดยสวทช. และไอบีเอ็ม ร่วมด้วยกลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับสามของโลกและรายใหญ่ที่สุดในเอเชียที่ให้การสนับสนุนความรู้เฉพาะทางในการวิจัยครั้งนี้ จะนำร่องพัฒนาแดชบอร์ดอัจฉริยะและแอพพลิเคชันบนมือถือ เพื่อช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพของอ้อย ความชื้นของดิน ความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีจากโรคและศัตรูพืช การคาดการณ์ผลผลิต และดัชนีค่าคุณภาพความหวานของอ้อย (ซีซีเอส) โดยอาศัยเทคโนโลยีเอไอชั้นนำของโลกและข้อมูลสภาพอากาศที่แม่นยำที่สุดในโลกจากเดอะเวเธอร์คอมแพนี (The Weather Company) รวมถึงเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตอ็อฟธิงส์และอนาไลติกส์
อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ใช้ในการผลิตน้ำตาลและพลังงานชีวภาพในประเทศไทยและทั่วโลก ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับสองของโลก และมีบทบาทสำคัญในการป้อนน้ำตาลสู่ตลาดโลกโดยมีส่วนแบ่งตลาด 9.4% ในปี 2560 [1] มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตน้ำตาลได้ 14.1 ล้านเมตริกตันในช่วงปี 2561-2562 โดยเพิ่มขึ้น 3% จากปีที่ผ่านมา [2]
ปัจจุบันนักวิจัยไอบีเอ็มกำลังพัฒนา "อโกรโนมิคอินไซต์แอสซิสแทนท์" (Agronomic Insights Assistant)ซึ่งใช้แพลตฟอร์มไอบีเอ็มวัตสันดีซิชันสำหรับการเกษตร (IBM Watson Decision Platform for Agriculture) ร่วมกับระบบไอบีเอ็มแพร์สจีโอสโคป (IBM PAIRS Geoscope) ซึ่งเป็นการผสานรวมข้อมูลความสัมพันธ์เชิงเวลาและพื้นที่ (เช่น ภาพถ่ายพืชผลจากกล้องหลายช่วงคลื่นที่เก็บภาพมาจากดาวเทียมหลายตัว ข้อมูลดิน ข้อมูลแบบจำลองความสูงของภูมิประเทศในรูปแบบดิจิทัล) ร่วมกับข้อมูลทางการเกษตร (เช่น สุขภาพของอ้อย ระดับความชื้นของดิน พยากรณ์ความเสี่ยงโรคและศัตรูพืช ปริมาณผลผลิต และดัชนีค่าคุณภาพความหวานของอ้อย) โดยใช้โมเดลการพยากรณ์ที่แม่นยำจากเดอะเวเธอร์คอมแพนี จากนั้นจึงนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการสำรวจเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับการปรับและพัฒนาให้เหมาะกับการทำไร่อ้อยในประเทศไทยโดยสวทช. และความรู้เฉพาะทางด้านการเกษตรจากกลุ่มมิตรผล เพื่อกลั่นกรองเป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภาวะการขาดน้ำและอาหารที่ส่งผลต่อการเติบโตของอ้อย ความเสี่ยงของโรคและศัตรูพืช ตลอดจนปริมาณผลผลิตทางการเกษตรและดัชนีคุณภาพของอ้อย
ทั้งนี้ จะมีการนำร่องใช้อโกรโนมิคอินไซต์แอสซิสแทนท์ในช่วงกลางปีนี้บนไร่อ้อยขนาดไม่เกินหนึ่งล้านตารางเมตรจำนวน 3 ไร่ โดยเมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จะช่วยประเมินและจัดการความเสี่ยงต่างๆ ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจะนำไปสู่ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ด้วยข้อมูลเชิงลึกที่พยากรณ์ล่วงหน้าได้สูงสุดสองสัปดาห์ ร่วมด้วยการแจ้งเตือนเกี่ยวกับโรคและศัตรูพืชอย่างหนอนเจาะลำต้นข้าวและความเสี่ยงที่จะเกิดโรคใบขาว และการพยากรณ์อากาศระยะสั้นตามฤดูกาลแบบเจาะจงพื้นที่ คาดว่าจะช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นการทดน้ำและระบายน้ำ การใส่ปุ๋ย และการกำจัดศัตรูพืช เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่อาจนำไปสู่การสูญเสียผลผลิต
"ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับประเทศ สวทช. มีความมุ่งมั่นที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับการวิจัยและการพัฒนาของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอาหารและการเกษตร ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหลายพันล้านบาทต่อปี และยังคงเป็นส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของคนไทย" ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยให้มั่นใจได้ถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนและความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของประเทศไทย และ สวทช. มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับกลุ่มมิตรผลและผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยไอบีเอ็ม เพื่อร่วมกันสร้างเกษตรกรรมยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยเริ่มต้นที่การทำไร่อ้อยในประเทศไทย"
"กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการวิจัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนำมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผลผลิตอ้อยทั้งในด้านของคุณภาพและปริมาณ ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนของทุกภาคส่วนที่อยู่ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล" รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต Head of Innovation and Research Development Institute กลุ่มมิตรผล กล่าว "การร่วมมือกับสวทช. รวมถึงการนำเทคโนโลยี เอไอ การสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียม และระบบพยากรณ์อากาศขั้นสูงของไอบีเอ็มมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำไร่อ้อย จึงนับว่าเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการทำเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) ซึ่งอยู่ภายใต้แผนการปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรไทยก้าวสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ หรือ Modern Farming ได้รวดเร็วขึ้น ทั้งยังสร้างประโยชน์ให้กับภาคเกษตรกรรมของไทยอย่างยั่งยืน"
"ไอบีเอ็มภูมิใจที่ได้ร่วมทำวิจัยภายใต้เป้าหมายในการนำข้อมูลเชิงลึกเข้าเป็นเครื่องมือเสริมศักยภาพการทำไร่อ้อยของไทย และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมหลักอย่างหนึ่งของประเทศ อันเป็นการสนับสนุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทย" นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว "การผนึกจุดแข็งของสวทช. และไอบีเอ็มในด้านการวิจัยและเทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้บิ๊กดาต้า อนาไลติกส์ เอไอ และอินเตอร์เน็ตอ็อฟธิงส์ เข้ากับความรู้เชิงลึกด้านการเกษตรของกลุ่มมิตรผล เป็นการพลิกโฉมแนวปฏิบัติของหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เก่าแก่ที่สุด และแสดงให้เห็นถึงก้าวย่างใหม่ของเกษตรกรรมอัจฉริยะในประเทศไทย"
"ปัจจัยต่างๆ อย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ประชากรที่เพิ่มขึ้น และความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร ล้วนเป็นตัวผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐต้องแสวงหาโมเดลการทำงานร่วมกันรูปแบบใหม่บนพื้นฐานของข้อมูลและนวัตกรรมใหม่ๆ" แคทรีน กวารินี รองประธานฝ่ายวิจัยอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยไอบีเอ็ม กล่าว "สถาบันวิจัยไอบีเอ็มหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในลักษณะเดียวกันนี้เพิ่มเติมในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก"