อย่างไรก็ตาม ความตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญอย่างยิ่ง ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะขยายขอบเขตและการใช้ประโยชน์เครือข่ายภาครัฐและเอกชนให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคทั่วประเทศ เพื่อให้ภาคเกษตรกรรมของไทยสามารถยกระดับขึ้นสู่การใช้ประโยชน์ดิจิทัล ลดข้อจำกัดการเข้าถึงตลาด เพิ่มโอกาสสานต่ออาชีพเกษตรกร รวมทั้งสร้างวงจรเศรษฐกิจคู่ขนานโดยอาศัยกลไกตลาดกลางค้าสินค้าเกษตร ร่วมกับศูนย์กระจายสินค้าและลอจิสติกส์ที่มีศักยภาพ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะช่วยส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งสินค้ามาตรฐานและมีความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
"สำหรับในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการพัฒนา www.DGT Farm.com เพื่อรวบรวมเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เข้ามาไว้ในแพลตฟอร์มนี้ และได้มีการพัฒนาเพื่อใช้ในการจับคู่ธุรกิจ ระหว่างผู้ที่ต้องการสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพกับเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยได้โดยตรง ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ผ่านการรับรองกว่า 1,000 ราย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการสร้างการน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงความต้องการซื้อของชุมชนที่มีขนาดใหญ่เข้ากับอุปทานสินค้าเกษตร ตามนโยบายตลาดนำการผลิต อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ จะมีการขยายผลการดำเนินการดังกล่าวต่อไป และเชื่อว่าประเทศไทยจะมีโอกาสที่จะสามารถเป็นครัวของโลกได้" นายลักษณ์ กล่าว
ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอุตสาหกรรมเกษตรพื้นฐานครบวงจรและมีความเข้มแข็งทั้งในฐานะผู้ผลิต แปรรูป และส่งออกสินค้าเกษตรเป็นอันดับต้นของโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ผลักดันการปฏิบัติภารกิจเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเกษตรกรรม ตั้งแต่การส่งเสริมเชิงพื้นที่ การพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของสินค้าเกษตร ตลอดจนการสร้างชุมชนเกษตรกรรมที่สามารถผนึกรวมตัวเป็นวิสาหกิจที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังมีความมุ่งมั่นที่จะให้เกษตรกรของไทยเข้าถึงโอกาสทางการตลาดได้อย่างเท่าเทียม จึงได้ผลักดัน "ยุทธศาสตร์ยกระดับการเกษตร 4.0" เพื่อตอบโจทย์นโยบายการพัฒนาสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน ก้าวทันยุคที่ข้อมูลข่าวสารมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ยกระดับการเกษตร 4.0 สอดรับนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยการมุ่งเน้นการสร้างกลไก "ตลาดคู่ดิจิทัล" ที่จะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้มีความต้องการซื้อขายสินค้าเกษตรได้มาพบกันบนดิจิทัลแพล็ตฟอร์ม โดยไม่มีข้อจำกัดด้านระยะทางและเวลา บวกกับการสร้างเครือข่ายตลาดค้าส่งและค้าปลีกให้รองรับการผลิตและตลาดสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐานและความปลอดภัย ตั้งแต่การตรวจรับรองและตรวจสอบสินค้าจากแหล่งผลิตไปจนถึงระบบการคัดบรรจุ ขนส่ง กระจายสินค้า และเก็บรักษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งตรงสินค้าคุณภาพแก่ผู้บริโภค ซึ่งโครงสร้างการปฏิบัติทั้งหมดภายใต้ยุทธศาสตร์ยกระดับการเกษตร 4.0 หรืออีกชื่อหนึ่งคือ "ยุทธศาสตร์พระพิรุณ" คือการมุ่งมั่นสร้างสรรค์เพื่ออนาคตของเกษตรกรไทย ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้ประชากรทั้งประเทศ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยยุทธศาสตร์ที่ปรับเปลี่ยนแนวคิด "ส่งเสริมการผลิต" ไปสู่ "การตลาดนำการผลิต" ทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตตามข้อมูลสถิติการตลาด ลดข้อจำกัดและการผูกขาด อีกทั้งยังเป็นการยกระดับมาตรฐานไปสู่ระดับสากลด้วยความเชื่อมั่น จนเกิดการสานต่ออาชีพและความภาคภูมิใจที่พร้อมจะเป็น"เกษตรกรรุ่นใหม่"และ "เกษตรอัจฉริยะ" ที่สร้างความมั่นคงทางอาหารของชาติในอนาคต