นายวีระ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายและยุทธศาสตร์ในการนำมิติวัฒนธรรมมาต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและท้องถิ่น ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศในเวทีโลกด้วยการส่งเสริม สืบสานและยกระดับประเพณีของท้องถิ่นขึ้นสู่ประเพณีระดับจังหวัด ระดับชาติ และระดับนานาชาติ อาทิ ประเพณีแห่ผีตาโขนและมหกรรมหน้ากากนานาชาติจังหวัดเลย ประเพณีอุ้มพระดำน้ำจังหวัดเพชรบูรณ์ ประเพณีสงกรานต์อาเซียนและสวดมนต์ข้ามปี อีกทั้งได้รวบรวม ประเพณี เทศกาล การแสดงศิลปวัฒนธรรม ในรูปแบบของหนังสือและจัดทำเป็นอีบุ๊คเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของวธ. เพื่อเป็นองค์ความรู้ ให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจและตระหนักในความสำคัญของศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของแต่ละท้องถิ่น
นายวีระ กล่าวอีกว่า ในส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีประเพณีที่มีความโดดเด่นคือ ประเพณีปอยส่างลอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่ วธ.ส่งเสริมการจัดงานให้มีความยิ่งใหญ่มากขึ้น เนื่องจากเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาอย่างช้านาน มีเอกลักษณ์โดดเด่น และมีคติความเชื่อที่เกิดจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ช่วยอบรมบ่มเพาะให้เด็กและเยาวชนเป็นคนดีและมีศีลธรรม ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2561 ประเพณีดังกล่าวได้รับการขึ้นบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเพียงจังหวัดเดียวของไทย ดังนั้น วธ.จึงได้บูรณาการร่วมกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน หน่วยงานรัฐ เอกชนและเครือข่ายด้านวัฒนธรรม จัดงานประเพณีปอยส่างลอง ประจำปี 2562 ขึ้น วันที่ 28– 31 มี.ค. 2562 ณ วัดผาบ่องเหนือ ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีพิธีเปิดงานในวันที่ 29 มี.ค. 2562 เวลา 18.00 น.
ทั้งนี้ งานประเพณีปอยส่างลอง เป็นการบรรพชาสามเณรหมู่ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวไต (ไทยใหญ่) ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งจัดงานเป็นประจำทุกปีเป็นงานประเพณีที่แสดงถึงความศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนาของชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนการสืบทอดประเพณีจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีอันดีงาม โดยเฉพาะขบวนแห่ส่างลอง (แห่ครัวหลู่) มีความสวยงามตามแบบประเพณีโบราณของชาวไตอย่างแท้จริง รวมถึงพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ทำให้ประเพณีนี้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ
สำหรับงาน "ปอยส่างลอง" เป็นพิธีที่ต้องเตรียมงานนาน 3 - 5 วัน มีการเชิญผู้มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก แบ่งเป็นวันต่างๆ ดังนี้ วันแรก เรียกว่า วันรับส่างลอง ในตอนเช้าเจ้าภาพส่างลองจะนำบรรดาเด็กชายไปวัด เพื่อแต่งชุดส่างลอง วันที่สอง เรียกว่า วันข่ามแขกคือ วันรับแขก เป็นวันที่ญาติพี่น้องจากหมู่บ้านอื่นมาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกัน วันนี้นับว่าสำคัญยิ่งเพราะจะมีพิธีต่างๆ 3 พิธี คือ พิธีการแห่โคหลู่ (เครื่องไทยธรรม) การเลี้ยงอาหารส่างลองเต็มรูปแบบ (กับข้าว 12 อย่าง) และทำพิธีเรียกขวัญส่างลอง วันที่สาม เรียกว่า วันแห่ครัวหลู่ เป็นวันแห่งเครื่องไทยทาน มีการแห่ส่างลองกับเครื่องไทยทานจากวัดกลางทุ่ง ไปตามถนนสายต่างๆ วันที่ 4 เรียกว่า วันข่ามส่าง หรือวันหลู่ คือจะนำส่างลองไปบรรพชาเป็นสามเณรหากในการจัดงานมีจางลอง คือ ผู้ที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ด้วยจะทำพิธีกันตั้งแต่เช้าตรู่ เมื่อถึงวัด จะเวียนรอบโบสถ์ 3 รอบ แล้วทำพิธีอุปสมบทในโบสถ์ หากวัดใดไม่มีโบสถ์เจ้าภาพ จะร่วมกับทางวัดจัดทำสิมน้ำ คือ ศาลาที่ประกอบพิธีอุปสมบทอยู่กลางแม่น้ำ หรือในบึงแล้วนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธี และเมื่อได้เวลาฉันเพล จะมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่นิมนต์มาร่วมพิธีบรรพชาสามเณรก่อนแล้วจึงเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมงานในพิธีเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี ทั้งนี้สอบถามรายละเอียดที่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน กระทรวงวัฒนธรรม โทร. 053 614 417