ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดโครงการ ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2562 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ มรภ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการนำเสนอโครงการย่อยในโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น โดยมีนักศึกษา มรภ.สงขลา นำเสนอโครงงานเพื่อพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนในเขตพื้นที่ จ.สงขลา รวม 7 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงนกกระทาบ้านบ่อเตี้ย
2. กลุ่มแม่บ้านไข่เค็มกะทิสดใบเตย
3. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านหัวทรายขาว
4. กลุ่มแม่บ้านตำบลปากรอ
5. กลุ่มขนมเปี๊ยะ
6. กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ผึ้งโพรง
7. กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเกาะแต้ว ซึ่งจะทำให้นักศึกษาได้รับความรู้ความเข้าใจ เห็นคุณค่าของทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น ฝึกทักษะการเป็นผู้ประกอบการโดยมีโอกาสพัฒนาเป็นอาชีพ เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตนเองได้ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิทยากรสมัยใหม่ที่สร้างประโยชน์เป็นรูปธรรม สามารถวัดและประเมินผลได้อย่างชัดเจน รวมทั้งสามารถพัฒนาองค์ความรู้เป็นหลักการ แนวทางในการพัฒนาหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ
ผศ.ดร.ทวีสิน นาวารัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการจัดกิจกรรม ธนาคารออมสินร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา ลงพื้นที่ดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการศึกษา วิเคราะห์ และพัฒนาองค์ความรู้ทางธุรกิจ นำมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนและแก้ไขปัญหา แบ่งปันองค์ความรู้ในการพัฒนาและประเทศชาติ เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนด้วยการร่วมเรียน ร่วมรู้ และร่วมทำ สามารพัฒนามูลค่าของผลิตผลให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ และบริการแก่กลุ่มองค์กรชุมชน ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างโอกาสทางการตลาด ส่งผลต่อความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน รวมถึงสามารถฝึกทักษะการเป็นผู้ประกอบการ โดยผสมผสานภูมิปัญญาในท้องถิ่นกับความรู้ทางวิทยากรสมัยใหม่ เพื่อให้เกิดอาชีพและรายได้ที่มั่นคง
ด้าน นายจิระ จันทวงศ์ ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเขตสงขลา 1 กล่าวว่า ธนาคารออมสินมีนโยบายและแผนงาน ประจำปี 2562 ในการจัดกิจกรรมด้านการเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการบูรณาการภูมิปัญญาและวิทยาการสมัยใหม่ของสถาบันอุดมศึกษากับภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อสร้างกระบวนการในการเสริมสร้างและพัฒนา ยกระดับขีดความสามารถในการประกอบการของกลุ่มชุมชนที่รวมตัวกันสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการให้มีศักยภาพ มีมูลค่าเพิ่ม สามารถยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือบริการ ให้ตอบสนองความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นการเสริมความมั่นคงในอาชีพและรายได้ การมีวินัยทางการเงินและศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นให้มีความมั่นคง เกิดผลที่ยั่งยืน ในขณะเดียวกันนิสิตนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะเกิดการเรียนรู้ เข้าใจในวิถีชีวิต เอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาไทยและทรัพยากรอันมีค่า เพื่อจะช่วยกันจรรโลงรักษาให้อยู่คู่สังคมไทย