สำหรับดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ร้อยละ 0.65 ซึ่งสินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิต ไม่เพียงพอต่อความต้องการส่งออก และปริมาณข้าวที่ต้องการบริโภคภายในประเทศที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ประกอบกับภาครัฐยังคงดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62 มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการโรงงานแป้งมันสำปะหลัง และ สุกร ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากตลาดภายในประเทศยังคงมีความต้องการบริโภคอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนผู้ผลิตรายกลางและรายใหญ่มีการบริหารจัดการที่ดี สามารถจัดการฟาร์มและป้องกันโรคระบาดในสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ สับปะรด ราคาลดลงเนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศน้อยกว่าผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ประกอบกับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบยังมีอยู่มาก และกุ้งขาวแวนนาไม ราคาลดลงเนื่องจากประเทศคู่ค้ามีคำสั่งซื้อชะลอตัวลง
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ร้อยละ 3.21 สินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้านาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ด้านสินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน และกุ้งขาวแวนนาไม
หากพิจารณาถึงแนวโน้มดัชนีรายได้ของเกษตรกรในเดือนมีนาคม 2562 คาดว่า ลดลงจากเดือนมีนาคม 2561 ร้อยละ 6.39 เป็นผลมาจากดัชนีราคาสินค้าปรับตัวลดลง ร้อยละ 4.42 ในสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กระเทียม และกุ้งขาวแวนนาไม นอกจากนี้ ยังคาดว่า ดัชนีผลผลิตจะปรับตัวลดลง ร้อยละ 2.07 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ อ้อยโรงงาน สับปะรด หอมแดง และหอมหัวใหญ่ โดยสินค้าสำคัญที่จะมีผลผลิตออกมากในช่วงเดือนมีนาคม ได้แก่ ข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง ทั้งนี้ เดือนเมษายน 2562 คาดว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรจะทรงตัว ส่วนดัชนีราคา มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น และดัชนีผลผลิตจะขยายตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา