ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมความรักสามัคคี ความมีระเบียบวินัย เข้าใจสิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น ซึ่งจัดโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ มรภ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้ ความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการสร้างความรักสามัคคี ความมีระเบียบวินัย เข้าใจสิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น ภายใต้พื้นฐานของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผ่านการเรียนรู้จากสื่อการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านมโนราห์และการแสดงศิลปวัฒนธรรมมลายู รู้รักสามัคคีเป็นหน้าที่พลเมือง ตามพระราโชบาย ร.10 โดยมีตัวแทนผู้นำชุมชนจาก 62 หมู่บ้าน ในพื้นที่ จ.สงขลา พัทลุง และ สตูล เข้าร่วมโครงการประมาณ 500 คน พร้อมทั้งร่วมกันกำหนดทิศทางการสร้างความรักและสามัคคีด้วยการจัดทำวิสัยทัศน์ชุมชนข้อตกลงร่วมใจ อันจะเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างชุมชนเข้มแข็ง
ผศ.ดร.นิวัต กล่าวว่า มรภ.สงขลา เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่เปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนในการสร้างความรักและสามัคคี ตลอดจนยกระดับคุณชีวิตให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ผ่านโครงการพัฒนาที่ได้น้อมนำพระบรมราโชบายและพระราชดำริมาเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนา มรภ.สงขลา พร้อมที่จะร่วมมือกับชุมชนและก้าวไปด้วยกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนให้สมดังปณิธานของเราที่ว่า "ปัญญาญาณของท้องถิ่น พลังแผ่นดินแห่งสยาม สนองพระราชปิตุคาม งดงามอย่างยั่งยืน"
ด้าน ผศ.นาถนเรศ อาคาสุวรรณ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า "ประเทศไหนถ้าประชาชนพลเมือง มีความสามัคคีกลมเกลียวกันดี มีระเบียบวินัย ประเทศนั้นก็เจริญและอยู่ในฐานะดี จึงเห็นได้ว่าความสามัคคีกลมเกลียวกันระหว่างคนในชาติ และความเข้าใจรักษาระเบียบวินัยเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง ที่จะช่วยนำประเทศชาติสู่ความวัฒนาถาวร" ซึ่งพระบรมราโชวาทดังกล่าวเปรียบเสมือนยุทธศาสตร์และเป้าหมายหลักในการบริหารจัดการประเทศ ให้เห็นถึงความร่มเย็นและความผาสุกของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ดังนั้น รัฐบาลจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างความสามัคคี เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง โดยได้กำหนดให้การสร้างความปรองดองความสมานฉันท์เป็นนโยบายเร่งด่วน โดยนำประเทศไทยสู่สังคมที่มีความปรองดองสมานฉันท์
ผศ.นาถนเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.ขลา เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีความมุ่งหวังในการพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในส่วนของบุคคลและแนวทางการจัดการท้องถิ่น จึงได้จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อให้ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกัน เกิดการมีส่วนร่วมนำไปสู่การสร้างความรักสามัคคี ความมีระเบียบวินัย เข้าใจสิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น ภายใต้พื้นฐานของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเกิดความภาคภูมิใจร่วมกัน อันเป็นการสร้างความยั่งยืนของความรักและสามัคคีในชุมชน ซึ่งทางคณะฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดโครงการในครั้งนี้ จะช่วยสร้างจิตสำนึกของคนในชุมชนให้เกิดความหวงแหน เกิดความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เพื่อสร้างความมั่นคงยั่งยืนในสังคมต่อไปในอนาคต