นายสุรัตน์ชัย เผยว่า อะคาร่า มาจากคำว่า อัคร ที่แปลว่า ความเป็นเลิศ และที่โลโก้จะเห็นว่ามีรูป A 3 ตัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึง ดีเยี่ยมที่สุด นั่นหมายถึงการสร้างที่อยู่อาศัยที่ดีมีมาตรฐานที่สุด ซึ่งสมัยก่อนความต้องการบ้านหรูหรา จะมาจากครอบครัวใหญ่ แต่ในปัจจุบันเมื่อไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูงที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุ 20 กว่าๆ ถึง 30 ปี ต้องการความคล่องตัว และรวดเร็ว มีความคิดความต้องการเป็นของตัวเองสูง ขนาดของตัวบ้านที่มีขนาดเล็กลง อยู่ใจกลางเมือง ตอบสนองเทคโนโลยีต่างๆในยุคดิจิทัล มีความทันสมัยมากขึ้น ฯลฯ แบรนด์ อะคาร่า จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการมีบ้านลักชัวรี่สำหรับคนรุ่นใหม่นี้ แต่ยังคงมาตรฐานการก่อสร้างสูงสุด ด้วย Core Business เดียวกันกับเอ็มเพอเร่อร์ ดังนั้นทุกคนสามารถที่จะเข้ามารับบริการสร้างบ้านลักชัวรี่ที่ตอบสนองความต้องการได้หลากหลายมากขึ้น ในเวลาที่รวดเร็วขึ้น โดยที่ยังเน้นในเรื่องมาตรฐานการก่อสร้างสูงสุดที่เมืองไทยมีสำหรับไฮคลาสเรสซิเดนท์ และถ้าหากได้ติดตามข่าวสารของเอ็มเพอเร่อร์มาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่า จากความสำเร็จในการประกวดโครงการ "The PHENOMENON 1" ที่ผ่านมาในปีที่แล้ว เราได้รับผลงานออกแบบที่น่าสนใจมากมาย จึงทำให้เกิดการจัดงานต่อเนื่องในปีนี้ กับโครงการ "The PHENOMENON 2" โดยครั้งนี้เรามีโจทย์ใหม่ ที่จะให้นิสิต นักศึกษา และนักออกแบบรุ่นใหม่ ได้ร่วมเสนอไอเดียเพื่อออกแบบบ้านลักชัวรี่ในแบบที่สะท้อนไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ขึ้นอีกครั้ง
นายสุรัตน์ชัย กล่าวอีกว่า ดิ เอ็มเพอร์เร่อร์ เฮ้าส์ ทำธุรกิจมากกว่า 30 ปี ผ่านประสบการณ์ในการออกแบบก่อสร้างบ้านระดับสูงมายาวนาน และได้พัฒนารูปแบบ กระบวนการ และที่สำคัญคือเทคนิคการก่อสร้างที่เป็นมาตรฐานสูงสุดของการรับสร้างบ้านอย่างเป็นรูปธรรม คือ ได้ผ่านมาตรฐาน ISO 9000:2015 เรื่องการให้บริการ ออกแบบ ก่อสร้าง และตกแต่งภายใน ที่พักอาศัยระดับสูงแบบบูรณาการ (INTERGRATED HOME DESIGN, CONSTRUCTION AND INTERIOR DECORATION SERVICES FOR HIGH CLASS RESIDENCE) และใช้มาตรฐานนี้กับบ้านทุกหลังรวมทั้งบ้านที่ก่อสร้างภายใต้แบรนด์อะคาร่า
ทั้งนี้ ภายในงานเสวนา วิทยากรทั้ง 3 ท่าน ซึ่งเป็นสถาปนิกและนักออกแบบชื่อดัง ได้เล่าประสบการณ์ในการออกแบบบ้านลักชัวรี่ ในบรรยากาศที่ได้มีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ของบุคคลผู้อยู่ในวงการออกแบบบ้าน สถาปนิก นิสิต นักศึกษา และนักออกแบบรุ่นใหม่ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน
โดย มล.วรุตม์ วรวรรณ (M.L. Varudh Varavarn) จาก Vin Varavarn Architects สัมมนาในหัวข้อ 'IDEAS of THE NEW LUXURY' ไอเดียใหม่ในบ้านลักชัวรี่ ได้แชร์ประสบการณ์ในการออกแบบ "บ้านที่ไม่สมบูรณ์แบบ" โดยเริ่มจากการตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่าอะไรคือลักชัวรี่ หรือความหรูหราของตัวเรา เพราะแต่ละคนต่างมีมุมมองที่แตกต่างกัน และนำมุมมองนั้นมาเลือกใช้ในงานให้เหมาะสม อาทิ ความไม่สมบูรณ์แบบของวัสดุ แต่เมื่อออกแบบให้ลงตัวด้วยมุมมองใหม่ ก็อาจจะสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่สวยงามได้ หรือการออกแบบความหรูหราที่สะท้อนความสวยงามของธรรมชาติ โดยให้สถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย เป็นสื่อกลางในการให้ผู้คนได้รับความรู้สึกผ่านการรับรู้ประสบการณ์ความหรูหราจากธรรมชาติ "ผมมองว่าความหรูหราไม่ได้มีอะไรตายตัว ผมรู้สึกว่าทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวเรา ที่เราชอบ อยู่ในสไตล์แบบนี้ สเปซแบบนี้ มีความสุขความสบายใจ ก็เป็นความหรูหราในแบบที่คุณเป็นตัวของตัวเอง"
นายอดุลย์ แก้วดี (Mr. Adul Kaewdee) จาก บริษัท กอรปฝัน จำกัด (KOPFUN CO., LTD) สัมมนาในหัวข้อ 'THE URBAN LUXURY HOUSE' บริบทที่เปลี่ยนไปของบ้านใหญ่ในเมือง โดยนำผลงานการออกแบบบ้านลักชัวรี่ในเมืองและในสถานที่ต่างๆ ที่แม้อาจไม่ใช่ใจกลางเมือง แต่เกิดจากการมองหาจากความลงตัวจากแนวคิดที่เกิดขึ้นระหว่างความต้องการของเจ้าของและธรรมชาติโดยรอบของพื้นที่ สิ่งที่เราสนใจ และเป็นแรงผลักดันสำหรับแนวความคิดการออกแบบ หลักๆ มีอยู่ 3 อย่าง คือ 1. สิ่งแวดล้อม 2. สถาปัตยกรรม และ 3. คน ที่เราสนใจสภาพแวดล้อมเพราะ การปลูกอะไรลงไปในที่ดินสักอย่างหนึ่ง สิ่งที่อยู่ในไซต์นั้นสำคัญทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแดด ลม ฝน เป็นสิ่งที่ไม่ต้องซื้อ และถ้าสามารถออกแบบโดยนำสิ่งแวดล้อมมาใช้ได้ นั่นก็คือสิ่งที่ดี ทำอย่างไรจึงจะให้งานสถาปัตยกรรมที่เราสร้างสามารถเกิดขึ้นในพื้นที่ตรงนั้นเลย
ในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จเร็วตั้งแต่อายุยังน้อย ไลฟ์สไตล์ก็จะแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนพอสมควร เมื่อก่อนการจะมีบ้านแต่ละหลังได้นั้น อาจหมายถึงการเก็บเงินมาทั้งชีวิตและมีบ้านที่สะท้อนเอกลักษณ์ของตัวเขาเอง แต่เดี๋ยวนี้คนอาจไม่ได้มีบ้านเพียงหลังเดียว และบ้านลักชัวรี่ของคนรุ่นใหม่แต่ละหลังก็อาจจะมีวัตถุประสงค์ในการอยู่อาศัยที่แตกต่างไป ความต้องการในบ้านแต่ละหลังจึงไม่เหมือนกัน และจะเห็นได้ว่าขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่คนต้องการ และหลายๆ อย่างที่เป็นองค์ประกอบ บ้านจะอยู่กลางเมืองหรือที่ไหนไม่สำคัญเท่ากับการที่นักออกแบบเสนออะไร
"และผมคิดว่า การทำบ้าน เป็นการร่วมมือกันของทั้งเจ้าของบ้าน ผู้ออกแบบ และคนสำคัญคือผู้รับเหมา ที่ทั้งสามส่วนนี้ต้องให้ใจ และใช้ใจช่วยกันสร้าง เพื่อให้ได้งานที่ออกมาในระดับที่ทุกคนพอใจ"
นายจูน เซคิโน (JUN SEKINO) จาก JUN SEKINO Architect and Design สัมมนาในหัวข้อ 'THE EXPERIENCE of THE NEW LUXURY' ประสบการณ์ใหม่ในความลักชัวรี่ ได้นำผลงานการออกแบบลักชัวรี่ที่เกิดจากวัสดุที่หลากหลาย อาทิ ปูน อิฐ เหล็ก ที่บางคนอาจจะคิดว่าวัสดุเหล่านี้จะสร้างความลักชัวรี่อย่างไร
เมื่อก่อนอาจจะมองว่า ลักชัวรี่คือรูปแบบ แต่ตอนนี้ผมมองว่า เป็นเรื่องของความต้องการของแต่ละคน ผมขอใช้คำว่า meaning ของ material ในการออกแบบให้เกิดขึ้น การรับรู้ในเรื่องของลักชัวรี่อาจเป็นเรื่องของประสบการณ์ในการรับรู้มากกว่า ในอดีตเราอาจจะทำงานที่เริ่มด้วยการทำแปลนก่อน แต่ผมไม่เป็นอย่างนั้น ผมชอบคิดว่าเราจะเห็นอะไรในงานก่อน
"สิ่งที่หรูหราอาจไม่ต้องพยายามหา แต่เป็นการใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นวัสดุอะไร และนำสิ่งเหล่านั้นมาทำให้เกิดผลงานที่เรียบง่าย แต่ให้ความหรูหราขึ้นได้ จากความรู้สึกและประสบการณ์ที่ได้สัมผัส"
นอกจากนี้ นายยศวัฒน์ เศรษฐบรมศักดิ์ (แชมป์) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 อินทีเรียดีไซน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่สนใจและมาเข้าร่วมงานสัมมนา พร้อมเผยถึงแนวคิดใหม่ที่ได้จากงานครั้งนี้ว่า "รู้สึกว่าได้มุมมองใหม่ในการคิดประเด็นของโจทย์ และคิดว่าอาจจะส่งงานเข้าประกวด ซึ่งอาจจะส่งในนามของกลุ่ม ตอนนี้อาจจะยังไม่แน่ใจว่าได้ไอเดียพร้อมที่จะเข้าประกวดหรือยัง แต่คิดว่าน่าจะเน้นเรื่องของการใช้ฟังก์ชันและสเปซที่จะมาเพิ่มมูลค่าให้เกิดความลักชัวรี่"
ด้าน นางสาวอนินทิตา แวอาแซ (เดียร์) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 อินทีเรียดีไซน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เผยว่า "ได้แรงบันดาลใจ และได้มุมมองใหม่ๆ ที่จะสามารถนำมาปรับใช้กับแนวคิดในการประกวดและในการเรียนด้วยค่ะ ตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะส่งผลงานแบบเดี่ยวหรือกลุ่ม และยังไม่แน่ใจว่าจะใช้ไอเดียไหนในการออกแบบ แต่ก็คิดเอาไว้ว่าน่าจะเป็นแนวทางในการเพิ่มมูลค่าของวัสดุหรืออะไรสักอย่างที่จะสามารถนำมาใช้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้แค่ความหรูหราอย่างเดียว อยากที่จะทำให้เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ materials"
การประกวด "The PHENOMENON 2 - ปรากฏการณ์บ้านลักชัวรี่สำหรับคนรุ่นใหม่" มีโจทย์ให้ออกแบบ "บ้าน" ที่สร้างปรากฏการณ์ ในการอยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่ สะท้อนไลฟ์สไตล์ที่ใหม่ไม่เหมือนใคร ตอบโจทย์ความลักชัวรี่ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน โดยมี ขอบข่ายในการออกแบบดังนี้
1. การออกแบบวางผัง Master Plan โดยสามารถเลือกพื้นที่ตั้ง และขนาดพื้นที่ดินได้
2. การออกแบบสถาปัตยกรรม The PHENOMENON
3. การออกแบบและตกแต่งภายใน The PHENOMENON
URBAN - LUXURY
บ้านสำหรับคนรุ่นใหม่ในเมือง
ให้ออกแบบ "บ้าน" ที่สร้างปรากฏการณ์ในการอยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่ สะท้อนไลฟ์สไตล์ความความลักชัวรี่ที่เปลี่ยนไปในเมือง โดยออกแบบวางผัง Master Plan บนพื้นที่ดินในเมือง ขนาด 200 ตร.วา (800 ตร.ม.) 20.00 ม. X 40.00 ม. (สามารถกำหนดที่ตั้ง และสภาพแวดล้อมเองได้) พื้นที่ใช้สอยภายในตัวบ้าน 500-1,000 ตร.ม.
NATURE - LUXURY
บ้านตากอากาศชิดธรรมชาติชานเมือง
ให้ออกแบบ "บ้าน" ที่สร้างปรากฏการณ์ ในการอยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการอยู่อาศัยใกล้ชิดธรรมชาติ สะท้อนไลฟ์สไตล์ความความลักชัวรี่ที่เปลี่ยนไปในบ้านชานเมือง โดยออกแบบวางผัง Master Plan บนพื้นที่ดินชานเมือง ขนาด 400 ตร.วา (1,600 ตร.ม.) 40.00 ม. x 40.00 ม. (สามารถกำหนดที่ตั้งและสภาพแวดล้อมเองได้) พื้นที่ใช้สอย ภายในตัวบ้าน 500-1,000 ตร.ม.
เงินรางวัล จะแบ่งเป็น 11 รางวัล ได้แก่
รางวัลที่ 1 : 120,000 บาท
รางวัลที่ 2 : 60,000 บาท
รางวัลที่ 3 : 30,000 บาท
รางวัลชมเชย (2 รางวัล) : 15,000 บาท
เข้ารอบสุดท้าย (5 รางวัล) : 10,000 บาท
Popular Vote : 20,000 บาท
วันเวลาตัดสิน
วันตัดสินรอบแรก : วันเสาร์ที่ 25 พ.ค. 2562 (10.00 - 12.00 น.) ณ บ. ดิ เอ็มเพอเร่อร์ เฮ้าส์
วันรับบรีฟเพิ่มเติมพร้อมชมงานจริง : วันเสาร์ 1 มิ.ย. 2562 (10.00 - 12.00 น.) ณ หน่วยงาน บ. ดิ เอ็มเพอเร่อร์ เฮ้าส์
วันตัดสินประกวดแบบ + popular Vote : วันเสาร์ที่ 15 มิ.ย. 2562 (13.00 - 16.00 น.) ณ ห้องอเนกประสงค์ (ชั้น1) หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสมัครและส่งผลงานเป็นเพลทขนาด A1 จำนวน 2 แผ่น (ติดลงบนแผ่น Future Board) และไรท์ผลงานเป็นไฟล์ภาพใส่ใน CD แนบเพลท พร้อมกรอกรายละเอียดใบสมัครให้สมบูรณ์ (ไม่เสียค่าสมัคร) ภายในวันพุธที่ 22 พ.ค. 2562 โดยส่งผลงานมาที่ ฝ่ายการตลาด บริษัท ดิ เอ็มเพอเร่อร์ เฮ้าส์ จำกัด 288/77 ถนนพหลโยธิน อนุสาวรีย์บางเขน กรุงเทพฯ 10220 สอบถามเพิ่มเติมผ่านช่องทาง Email : [email protected], Line : @ACARA, โทร. 086-889-9224 และ FACEBOOK : ACARA.official