ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฎิรูป คณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต
และ เครือข่ายงานวิจัยนานาชาติเพื่อสังคมอยู่เย็นเป็นสุข (ไอร่าห์)
คำว่า "ความสุข" อาจมีคนให้คำนิยาม หรือ ความหมายแตกต่างกันไป ตามแนวคิด วัฒนธรรม และมุมมองที่ต่างกัน บางคนอาจคิดว่า ความสุขเกิดจากการที่ได้ในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งมนุษย์มีความต้องการที่ไม่สิ้นสุด ความสุขแบบนั้นจึงต้องขึ้นกับการพยายามหาสิ่งมาตอบสนองความต้องการอยู่ตลอดเวลา สอดคล้องกับแนวคิดการกระตุ้นการบริโภคและการผลิตเพื่อสนองความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์ของการพัฒนากระแสหลัก ที่มีหลักคิดว่าการบริโภคที่มากขึ้น รายได้ที่มากขึ้น จะนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขที่มากขึ้น ดังนั้น การใช้กรอบความคิดการพัฒนาจากตะวันตก ทำให้มีนโยบายการพัฒนาประเทศ ที่เน้นให้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น เพราะ คิดว่าความสุขของประชาชนคงเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ในความเป็นจริงและในทางทฤษฎีแล้ว สิ่งที่มีผลต่อความสุขของคน มิใช่รายได้หรือปัจจัยด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว จากผลการศึกษาในหลายๆกรณีและในหลายๆประเทศ บ่อยครั้งที่รายได้ ไม่ได้มีผลต่อความสุขของคนอย่างมีนัยสำคัญ แต่กลับพบว่า มีปัจจัยอื่นที่มีผลต่อความสุขมากกว่า อาทิ สุขภาพ ความสัมพันธ์ทางสังคม ครอบครัว หรือปัจจัยที่จับต้องไม่ได้ เช่น ความสุขจากประสบการณ์ เป็นต้น และมีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงว่า ในบางประเทศ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขั้นอย่างต่อเนื่อง แต่ความสุขของคนในประเทศกลับไมได้เพิ่มขี้นเลยในช่วงนั้น
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับว่ารายได้ หรือวัตถุมีความจำเป็นระดับหนึ่ง เพราะทุกคนต้องได้รับปัจจัยสี่ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดังนั้นสำหรับคนที่ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ เงินหรือวัตถุจึงมีความสำคัญมาก แต่เมื่อเขามีสิ่งนั้นมากเกินพอแล้ว ความสุขที่ได้จากรายได้/วัตถุจะลดลงเรื่อยๆ (จากกฎการลดน้อยถอยลงของความสุขต่อหน่วย จากรายได้ที่เพิ่มขึ้น) ซึ่งสอดคล้องกับหลักคิดของการพัฒนาคนตามแนวพุทธศาสนาที่ว่า ถ้าเรามีปัจจัยเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพได้แล้ว คนเราควรพัฒนาตนไปสู่ความสุขในระดับที่สูงขึ้นกว่าความสุขในระดับวัตถุ ซึ่งก็คือความสุขในระดับจิตใจและปัญญา อันเป็นความดีงามของชีวิต และเกื้อกูลผู้อื่น เพราะความสุขในระดับวัตถุที่เกินพอดีไม่ได้นำมาสู่ความสุขที่แท้จริงมากขึ้น ตรงกันข้ามอาจทำให้ความสุขลดลง อันเนื่องมาจากความทุกข์ที่มาด้วยกันกับการได้มาและครอบครองสิ่งเหล่านั้นที่มากเกินไป และจากความอยาก ความต้องการ (กิเลส) ที่ไม่สิ้นสุด หากไม่รู้จัก"พอ"
หลักการสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เน้นความพอดี พอประมาณ จึง อยู่บนพื้นฐานของพุทธศาสนา คือ ทางสายกลาง ซึ่งเป็นหนทางที่จะทำให้พ้นทุกข์ ก็คือความสุขนั่นเอง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำรัสในเรื่อง ความ."พอ"นี้ไว้ว่า
"...พอเพียง มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่า"พอ" ก็พอเพียงนี้ก็พอแค่นั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรงไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมี มีมากอาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น..."
(พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541)
ดังนั้น ความรู้จัก " พอ" จึงนำไปสู่ความสุขทั้งแก่ตนเองและสังคม (โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม) ตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและพุทธพัฒนา ที่เน้นความสุขจากภายใน ในการศึกษาเรื่องปัจจัยที่มีผลต่อความสุขของผู้เขียนในระยะหลังได้เน้นปัจจัยที่มีผลจากความสุขภายในตามแนวทางของพุทธศาสนา นอกเหนือจากปัจจัยสำคัญในทางทฤษฎีและการศึกษาของตะวันตก และได้เริ่มเก็บข้อมูลทำการทดสอบเชิงปริมาณเป็นกรณีศึกษาในประเทศไทย จากสองกรณีที่ได้ทำการศึกษามาแล้ว พบว่า ปัจจัยที่มาจากความสุขภายในมีผลอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ความสุขจากการให้ (จากกรณีศึกษาในกรุงเทพฯและปริมณทล) และ ความสุขจากความพอ (กรณีศึกษาความสุขของชุมชนบางกะเจ้า อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ) กรณีศึกษาชุมชนบางกะเจ้า: ความสุขจากความพอเพียง คุณภาพของสิ่งแวดล้อม และวิถีชุมชน จากการสำรววจข้อมูลของคนในชุมชนกรณีบางกะเจ้า 490 ตัวอย่าง พบว่า คนส่วนใหญ่ รู้สึก พอ ในทางวัตถุ มีเวลาทำในสิ่งที่ดีที่ชอบและร่วมงานกับชุมชน มีการให้และการเป็นจิตอาสา มีการปฎิบัติธรรมอยู่พอสมควร มีความรู้สึกว่าฐานะทางเศรษฐกิจของตนพอๆกับเพื่อนบ้าน ถึงแม้จะมีรายได้ที่เป็นตัวเงิน ไม่มากก็ตาม แต่มีการจัดการด้านการเงินในครอบครัวดีเพียงพอกับรายจ่าย มีความภูมิใจในพื้นที่สีเขียวและภูมิปัญญาท้องถิ่น มีความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชนค่อนข้างดี มีสุขภาพดี และมีความสุขจากการมีพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนค่อนข้างมาก โดยที่เกือบ 50 เปอร์เซนต์ ของผู้ตอบแบบสอบถามให้ค่าระดับความสุขสูงสุดจากการมีพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน และโดยภาพรวมแล้ว ชาวบางกะเจ้ามีระดับความสุขรวมเฉลี่ย ประมาณ 8.5 (จากระดับ 0-10) โดยที่ ให้คำตอบในระดับ 8 มากที่สุด เมื่อทดสอบความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆกับความสุขในทางสถิติแล้ว พบว่า ปัจจัยเรื่องความรู้สึกพอเพียงในทางวัตถุ เป็นปัจจัยที่มีผลอ(ย่างมีนัยสำคัญ)มากที่สุดต่อความสุขของคนในชุมชน รองลงมาได้แก่ คุณภาพของสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน การมีส่วนร่วมในชุมชน นอกเหนือจาก ปัจจัยอื่นๆ เช่น ด้าน สุขภาพ การมีเวลาทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ และการปล่อยวางหรือจัดการกับความทุกข์ได้ ซึ่งสะท้อนความสุขภายใน ระดับจิตใจและปัญญา
ในขณะที่รายได้ที่เป็นตัวเงิน ไม่มีผลต่อความสุขอย่างมีนัยสำคัญ แต่ ความรู้สึกถึงฐานะทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกันกับคนอื่นในชุมชนหรือดีกว่า มีผลต่อความสุขมากอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าความรู้สึกในการเปรียบเทียบทางสังคม (ที่ในทางทฤษฎีมีผลในทางลบต่อความสุข)ไม่ค่อยมีผลในกรณีนี้ จึงทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกมีความสุขจากฐานะที่ค่อนข้างเท่าเทียมกัน นอกจากนั้น การจัดการทางเศรษฐกิจของครัวเรือนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทำให้รายจ่ายน้อยกว่ารายได้ หรือมีเงินเก็บออมได้ ก็มีผลต่อความสุขมากเช่นกัน ในขณะที่ปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆ เช่น รายได้ หรือ การมีงานทำ ไม่มีผล ดังนั้น จะเห็นว่า หากสามารถบริหารจัดการเศรษฐกิจตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทำให้ครัวเรือนไม่มีหนี้สินหรือสามารถเก็บออมได้แล้ว รายได้ที่เป็นตัวเงินที่น้อยไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาและไม่ได้มีผลทำให้ความสุขของคนในชุมชนลดลงแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ความสุขของชุมชนขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ไม่ใช่รายได้ เช่น ความรู้สึกพอเพียงในวัตถุ คุณภาพของสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชนและครอบครัว สุขภาพ และการใช้เวลาในทำที่ชอบและเป็นประโยชน์ และการจัดการทางการเงินของครอบครัวให้พอเพียง ซึ่งจากการทดสอบเชิงปริมาณพบว่า ปัจจัยเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับความสุขในทิศทางที่เป็นบวก กล่าวคือ ยิ่งทำให้มีปัจจัยเหล่านั้นเพิ่มมากขึ้น ความสุขของคนในชุมชนก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนั้น ในการทดสอบโดยแยกแยะเป็นรายกลุ่ม เช่น ตาม อายุ อาชีพ ความพอ ฯลฯ จะพบว่า ตัวแปรที่สะท้อนความสุขภายใน มีผลต่อความสุขอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ การสามารถจัดการความทุกข์ได้ ความต้องการทางวัตถุที่ลดลง มีผลทำให้ความสุขมากขึ้น เป็นต้น
จากการศึกษานี้ สะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนบางกะเจ้า มีความสุขตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีความสุขจากความพอเพียงในทางวัตถุ และสามารถบริหารจัดการเศรษฐกิจในครัวเรือนให้พอเพียงได้เช่นกัน มีความสุขจากสิ่งแวดล้อมที่ดี มีวิถีชีวิตแบบชุมชนที่ไม่เร่งรีบมากนักแบบสังคมเมืองใหญ่ จึง มีความสัมพันธ์กันในชุมชนและครอบครัวที่ดี มีเวลาที่จะได้ใช้เวลากับสิ่งที่ชอบที่เป็นประโยชน์ได้ มีสุขภาพที่ดี มีการจัดการกับความทุกข์ได้ดีพอสมควรจากการปฎิบัติธรรม อันสะท้อนให้เห็นถึงความสุขจากภายในใจตนเอง ในระดับจิตใจและปัญญา โดยเฉพาะจากความ"พอ" ที่พบว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ชุมชนนี้มีความสุข และสามารถรักษาพื้นที่สีเขียวและสิ่งแวดล้อมอยู่ได้ หากชุมชนนี้พี่งพิงความสุขจากภายนอกเป็นหลัก เช่น ชุมชนเมืองอื่นๆที่พัฒนาทางวัตถุไปมากแล้ว พื้นที่สีเขียวของชุมชนย่อมลดลงและวิถีชีวิตของชุมชนย่อมเปลี่ยนแปลงไป กรณีศึกษาบางกะเจ้า สะท้อนให้เห็นว่า ความสุขภายใน นำไปสู่การรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้ ดังนั้น การพัฒนาความสุขของบุคคลให้สูงขึ้นจากความสุขในระดับวัตถุให้ไปสู่ความสุขในระดับจิตใจและปัญญา (ซึ่งสร้างเองได้จากภายใน) จะเป็นหนทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และช่วยให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นวาระของโลกในขณะนี้บรรลุผลได้
นอกจากนี้ นัยเชิงนโยบายเชิงโครงสร้างที่ได้จากการศึกษานี้คือ ควรลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม เพราะการเปรียบเทียบทางสังคมและความเหลื่อมล้ำมีผลในทางลบต่อความสุข จากผลการศึกษานี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนเองมีฐานะพอๆกับเพื่อนบ้านและคนอื่นๆในชุมชน กล่าวอีกนัยนึ่งก็คือ ชาวบ้านไม่ได้รู้สึกว่ามีความเหลื่อมล้ำสูงจนทำให้ปัจจัยนี้มีผลเชิงลบต่อความสุข แต่มีความรู้สึกว่ามีฐานะทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเท่าเทียมกัน จึงส่งผลเชิงบวกต่อความสุขของชุมชน โดย กรณีศึกษานี้จะเห็นว่า รายได้ที่เป็นตัวเงินอย่างเดียวไม่มีผลต่อความสุขเลย แต่ความรู้สึกเกี่ยวกับรายได้โดยเปรียบเทียบมีผลต่อความสุขอย่างมีนัยสำคัญ คังนั้น นโยบายการพัฒนาจึงควรเน้นการลดความแตกต่างในรายได้ หรือให้มีความเท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่ควรเน้นแต่ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในมิติเดียว แต่ต้องลดความไม่เท่าเทียมกัน ควรแก้ปัญหาความยากจนในหลากหลายมิติสำหรับผู้ที่ยังด้อยโอกาสในสังคม ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างไม่ขัดสนและมีโอกาสพัฒนาตนเองต่อไป ส่งเสริมการบริหารจัดการเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนแบบพอเพียง มากกว่าเน้นการกระตุ้นการบริโภค เพื่อให้ได้ตัวเลขจีดีพีสูงขึ้น อันจะนำไปสู่ปัญหาของเศรษฐกิจครัวเรือนและมีการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ควรเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น พัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การสร้างสุขภาวะ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในสังคม โดยลดการแบ่งแยกและความขัดแย้ง ส่งเสริมวิถีชุมชนที่มีการเอื้อาทรและร่วมมือกัน รวมทั้งพัฒนาสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาความสุขจากภายใน ให้มากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาคนและประเทศจึงต้องมีความสมดุล ทั้งทางด้านกายภาพ จิตใจ สติปัญญา และสิ่งแวดล้อม