ทั้งนี้ การร่วมลงนามสัญญาดังกล่าว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากบีซีพีจี ซึ่งเป็นผู้ลงทุน พัฒนา ติดตั้ง และบริหารจัดการระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จำนวนกว่า 150 อาคาร รวมถึงระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) รวมกำลังการผลิตติดตั้งขั้นต่ำ 12 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยบีซีพีจีจะเริ่มทยอยติดตั้งระบบภายในไตรมาสที่ 2 และเริ่มซื้อขายไฟฟ้าได้ภายในสิ้นปี 2562 โดยการที่บริษัทฯ ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาบริหารจัดการไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานสะอาดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากจะเป็นการนำนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าให้กับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนอาคารต่างๆ แล้ว การที่แต่ละอาคารสามารถซื้อขายไฟฟ้ากันเองภายในมหาวิทยาลัยทั้งหมดไม่มีไฟส่วนเกินหรือเหลือใช้ ไม่กลายเป็นของเสียหรือสูญเปล่า ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy อันเป็นแนวทางในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนขึ้น
นอกจากความร่วมมือด้านการผลิตและบริหารจัดการไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าสูงสุดจากไฟฟ้าที่ผลิตได้แล้ว บีซีพีจียังมีแผนให้การสนับสนุนโครงการของนักศึกษาที่มีศักยภาพ ต่อยอดเป็นธุรกิจ Startup ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) ของบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมสนับสนุนด้วย
ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบอัจฉริยะด้านพลังงานสะอาดของประเทศ ต่อยอดสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม อย่างเต็มรูปแบบ