กรมสุขภาพจิต จัดกิจกรรมรณรงค์ “สุขใจ…ไม่สูญเสีย” เพิ่มสุขให้คนไทย-ลดปัญหาสุขภาพจิต

ศุกร์ ๒๒ มีนาคม ๒๐๑๙ ๑๕:๔๕
กรมสุขภาพจิต จัดกิจกรรมรณรงค์ "สุขใจ…ไม่สูญเสีย" เนื่องในวันที่ 20 มีนาคมของทุกปีเป็นวันความสุขสากลรณรงค์ให้คนไทยมีความสุขเพิ่มมากขึ้นบนโลกยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และลดการสูญเสียให้น้อยลงจากปัญหาความเครียดและปัญหาด้านสุขภาพจิต

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 20 มีนาคมของ ทุกปี เป็นวันความสุขสากล (International day of happiness) กรมสุขภาพจิตจึงขอส่งต่อความสุขแก่ประชาชน คนไทยด้วยการจัดกิจกรรมรณรงค์ "สุขใจ…ไม่สูญเสีย" เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีแก่คนไทย 2 เรื่องหลัก โดยเรื่องแรก เพื่อให้คนไทยมีความสุขมากขึ้นในโลกของยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการที่เราจะมีความสุขเพิ่มมากขึ้นนั้น สามารถทำได้หลายประการ คือ

1.ความสุขมีอยู่รอบตัวเรา คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ความสุขสามารถเสาะแสวงหาได้จากปัจจัยภายนอก แม้ในยามประสบปัญหา ก็พยายามมองหาคำตอบจากภายนอก ทั้งที่ความจริงแล้วความสุขมีอยู่รอบตัวเรา และเราทุกคนต่างมีปัจจัยแห่งความสุขพร้อมอยู่แล้วในตนเอง

2. ความสุขจากการปรับตัวในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าในโลกปัจจุบันนี้จะมีความเปลี่ยนแปลงรอบตัวที่รวดเร็วมากกว่าสมัยก่อน แต่หากเราสามารถยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ และสามารถปรับตัวไปตามสภาพความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ เราก็จะเป็นคนที่มีความสุขได้มากขึ้น

3. การฝึกให้ตัวเองสุข คือ ไม่ทุกข์ ถ้าเรารู้สึกว่าเราเป็นคนที่ทุกข์ได้ง่าย เราควรต้องระวังความคิดตัวเอง ฝึกมองตนเอง มองคน มองโลกอย่างเป็นกลางไม่โน้มเอียงไปด้านลบ ถ้าเรารู้สึกว่าเราเป็นคนที่สุขได้ยาก เราควรต้องรู้จักเสพความสุขบ้าง ฝึกมองโลกด้านสวยงาม และมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ จนเป็นนิสัย ความสุขในชีวิตโดยรวม ก็จะเกิดขึ้นเองวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี ทางสหประชาชาติได้เชิญชวนให้ทุกประเทศร่วมฉลองกันในวันความสุขสากล โดยมีเป้าหมายให้รำลึกถึงความสุขบนพื้นฐานของมนุษยชาติ และส่งเสริมให้สร้างความสุขอย่างยั่งยืนทั้งตนเองและผู้อื่น ในปีนี้ กรมสุขภาพจิตจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ "เสริมสร้างความสุขคนไทย" ในวันที่ 20 มีนาคม 2562 ณ สถานีรถไฟฟ้า MRT ตลาดบางใหญ่ สถานีเซ็นทรัลเวสเกต ซึ่งเป็นการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับความสุข เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมถ่ายทอดวิธีสร้างสุขของตนเองให้กับคนรอบข้าง นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตยังมีการจัดประกวดคลิปวิดีโอ และข้อความแบบสั้น ภายใต้หัวข้อ "สุขใจ…ไม่สูญเสีย" ในเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องของการสร้างความสุขให้มากขึ้นในภาคประชาชนอีกด้วย

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า เรื่องที่สอง คือ เพื่อลดความสูญเสียให้น้อยลงจากความเครียด ปัญหาด้านสุขภาพจิต และปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า จำนวนผู้ฆ่าตัวตายสูงขึ้นในเดือนมีนาคมและเมษายน เกิน 400 ราย ขณะที่เดือนอื่นๆ ประมาณ 300 กว่าราย สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป ที่ประชาชนต้องช่วยกันเฝ้าระวังมี 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ป่วยโรคจิตเวชบางโรค เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคจิตเภท 2. ผู้ป่วยที่มีปัญหาการใช้สารเสพติดปริมาณมากมานาน เช่น สุรา ยาบ้า 3. กลุ่มผู้ที่มีความสูญเสีย 4. กลุ่มพฤติกรรมที่มีความก้าวร้าว อารมณ์หุนหันพลันแล่น 5. กลุ่มที่มีประวัติการทำร้ายตัวเองซ้ำๆ หรือฆ่าตัวตาย และ 6. กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานหรือมีอาการรุนแรง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็ง

ตามที่ทราบกันในขณะนี้มีข่าวที่เกี่ยวกับการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง ทั้งทางสื่อต่างๆ และโซเชียลมีเดีย ก่อให้เกิดความตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้นในสังคม ซึ่งทางกรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูล ติดตาม เฝ้าระวังเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตยังเพิ่มการประชาสัมพันธ์ผ่านทางช่องทางต่างๆ ทั้งสื่อกระแสหลัก และทางโซเชียลมีเดียของกรมสุขภาพจิตเอง โดยมีการจัดทำโซเชียลมีเดียแคมเปญ ชื่อ "I am here ยังมีเรา" เพื่อให้เกิดกระแสการช่วยเหลือคนรอบข้างที่มีความเสี่ยง มีการประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของสถานพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต การให้ความช่วยเหลือประชาชนผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และให้ความรู้ประชาชนผ่านแอพพลิเคชั่นสบายใจ (Sabaijai)หลังจากนี้ กรมสุขภาพจิตจะมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพื่อลดการสูญเสียของคนไทยจากการ ฆ่าตัวตาย โดยมีการวางแผนการดำเนินงานต่างๆ เช่น การจัดสัมมนาเครือข่าย ในวันที่ 27 มีนาคมนี้ ที่กรมสุขภาพจิต เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายและช่วยเพิ่มการเข้าถึงความช่วยเหลือ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัย สื่อมวลชน เอ็นจีโอ ตัวแทนเขตพื้นที่การศึกษา, การจัดสัมมนาร่วมกับมหาวิทยาลัย 50 แห่ง ในเดือนเมษายน 2562 ที่กรมสุขภาพจิต เพื่อพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือที่ดีในมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย เพื่อนช่วยเพื่อน อาจารย์ นักจิตวิทยา แพทย์ และโครงการต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความตระหนักถึงความสำคัญของการฆ่าตัวตายในสังคมไทย โดยเน้นกลุ่มวัยเรียน อายุน้อยกว่า 25 ปี มีการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและช่วยเหลือกับสถานศึกษาและมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตจะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดำเนินงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูล และทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาการฆ่าตัวตาย สนับสนุนงานประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ในจังหวัด สนับสนุนการเกิดมาตรการลดการเข้าถึงอุปกรณ์วิธีการฆ่าตัวตาย รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการประเมินความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายด้วยแบบทดสอบต่างๆเพื่อพิจารณารูปแบบการช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version