ผศ.ดร.อนุมัติ เดชนะ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยบริการวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ จัดโครงการสานสัมพันธ์ชายแดนใต้ผ่านค่ายวิชาการ ค่ายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ประจำปี 2562 ให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 เขตพื้นที่ จ.สงขลา 4 อำเภอ (สะบ้าย้อย เทพา จะนะ และ นาทวี) และพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) จำนวน 2 รุ่นๆ ละ 50 คน ระหว่างเดือน มี.ค.-เม.ย. กิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยและทัศนศึกษาภาคกลาง เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเยาวชนจากการเรียนรู้นอกสถานที่ในสภาพแวดล้อมของจริง โดยร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ จัดโครงการสานสัมพันธ์ชายแดนใต้ฯ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและวัฒนธรรม เพิ่มทักษะความรู้และเตรียมความพร้อมด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ตลอดจนปลูกฝังทัศนคติและแนวคิดในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข
ผศ.ดร.อนุมัติ กล่าวว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอัตลักษณ์ในด้านวิถีชีวิต ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมแตกต่างจากพื้นที่อื่นของประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมได้ง่าย ส่งผลกระทบให้มีช่องโหว่จากผู้ไม่ประสงค์ดีใช้สถานศึกษาสร้างความเสี่ยงด้านยาเสพติด จากความหลากหลายของรูปแบบการจัดการศึกษาในพื้นที่ดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการการศึกษาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ของสังคมพหุวัฒนธรรมควบคู่กับการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาของคนในชุมชน และเชื่อมโยงกับหลักศาสนา วิชาสามัญและวิชาชีพ หลักการดังกล่าว ถือเป็นฟันเฟืองหลักในการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างมั่นคง ด้วยการให้การศึกษากับเยาวชนในพื้นที่อย่างจริงใจและมุ่งมั่น เพื่อพลิกฟื้นพื้นที่ชายแดนใต้ให้เกิดความสันติสุขอย่างยั่งยืน
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า การส่งเสริมความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างถูกทางและเหมาะสม จะทำให้อัจฉริยภาพที่แฝงเร้นอยู่ในตัวเยาวชนเหล่านั้นขับเคลื่อนสู่การเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพยิ่งของประเทศชาติและพื้นที่ชายแดนใต้ในอนาคต ทั้งนี้ มรภ.สงขลา ได้สนับสนุนการศึกษา การให้บริการวิชาการในเขตรับผิดชอบ จ.สงขลา สตูล และ พัทลุงรวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงมาโดยตลอด พร้อมทั้งมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการจัดการศึกษาของเขตพื้นที่เฉพาะชายแดนใต้ รวมถึงช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติด และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพของเยาวชนและสังคมให้ดีขึ้น ด้วยสภาพปัจจุบันการเรียนการสอนได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นยึดเยาวชนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ให้เยาวชนสามารถหาความรู้ด้วยตนเองจากประสบการณ์ เพื่อให้กล้าคิด กล้าทำ นำไปสู่การตัดสินใจด้วยทัศนคติเชิงบวกที่ดี
"การให้เยาวชนได้เรียนรู้นอกสถานที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อสัมผัสกับประสบการณ์จริงจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและปราชญ์ชาวบ้าน และลงมือปฏิบัติเพื่อปลูกฝังให้นักเรียนอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงปลูกฝังคุณธรรม ตลอดจนการป้องกันยาเสพติด มหาวิทยาลัย พร้อมให้การสนับสนุนส่งเสริม และร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นอีกมิติหนึ่งของการร่วมกันสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในพื้นที่" คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา กล่าว