นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ดำเนินโครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกรในชุมชนมาตั้งแต่ปี 2547 โดยฟาร์มสุกรของบริษัทซึ่งกระจายอยู่ทุกภาคของประเทศ รวมทั้งเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรกับซีพีเอฟ ร่วมกันจัดโครงการดังกล่าว จนถึงปัจจุบันสามารถช่วยเหลือเกษตรไปแล้วจำนวน 148 ราย ในการนำน้ำไปใช้ในการเพาะปลูกพืช อาทิ นาข้าว อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา ยูคาลิปตัส หญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ในพื้นที่รวมกว่า 4,066 ไร่ ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยแก่เกษตรกรได้รวมประมาณ 2 ล้านบาทต่อปี
"น้ำที่บริษัทแบ่งปันให้กับชุมชน เป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดในระบบแก๊สชีวภาพ สู่บ่อบำบัดน้ำหลังระบบ ต่อไปสู่บ่อพักน้ำ จนได้น้ำสะอาดที่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีธาตุอาหารที่เหมาะสมกับพืช อาทิ โพแทสเซียม ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม เห็นได้จากผลผลิตไร่อ้อยของเกษตรกรที่นำน้ำจากโครงการปันน้ำปุ๋ยไปใช้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัว" นายสมพรกล่าว
ด้าน นายจารุบุตร เกิดอุดม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟมีมาตรการเชิงรุกในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยกำหนดเป้าหมายระยะยาวลดปริมาณการนำน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิตลงร้อยละ 30 ในปี 2568 (เทียบกับปีฐาน ปี 2558 ) รวมทั้งดำเนินการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับไปใช้ซ้ำหรือนำกลับไปใช้ใหม่ ลดการปล่อยน้ำทิ้งสู่สภาพแวดล้อมภายนอก โดยมีสัดส่วนปริมาณการนำน้ำที่กลับมาใช้ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 12.38 ในปี 2559 เพิ่มเป็นร้อยละ 13.86 ในปี 2560 และร้อยละ 17.86 ในปี 2561 เช่น ในฟาร์มเลี้ยงกุ้งของบริษัทฯ จะไม่ปล่อยน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก นำน้ำที่บำบัดด้วยกระบวนการชีวภาพให้สามารถหมุนเวียนนำกลับไปใช้ในระบบการเลี้ยงต่อไป และยังนำระบบจุลินทรีย์บำบัดมาใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ช่วยลดการใช้น้ำในการเลี้ยงกุ้ง นำไปสู่การใช้ทรัพยากรน้ำที่ยั่งยืน .