กรมวิทยาศาสตร์บริการได้ลงนามความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรในโครงการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการของประเทศในการทดสอบคุณภาพยางแท่งเอสทีอาร์ (STR) ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ISO/IEC17025 โดยมีนางอุมาพร สุขม่วง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ และนางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ วัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการทดสอบยางแท่งเอสทีอาร์ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบยางแท่ง ณ โรงแรมราการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร
กิจกรรมภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ได้แก่ กิจกรรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ การฝึกอบรมทางเทคนิคการทดสอบคุณภาพยาง และการฝึกอบรมด้านระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการทดสอบและรับรองคุณภาพยางแท่งเอสทีอาร์ให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากลครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ และเพิ่มศักยภาพการส่งออกยางแท่งเอสทีอาร์ของประเทศไทยสู่ตลาดสากล รวมทั้งส่งเสริมการยื่นขอการรับรองระบบคุณภาพของห้องปฏิบัติการทดสอบยางตามมาตรฐานสากล ISO/IEC17025 เป็นการยกระดับคุณภาพสินค้าไทยให้มีคุณภาพในระดับสากล สามารถแข่งขันทางการค้าในตลาดสากลได้มากยิ่งขึ้น โดยกรมวิชาการเกษตร จะทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลห้องปฏิบัติการทดสอบยางของประเทศให้ได้รับการรับรองห้องปฏิบัติการทดสอบที่เป็นไปตามมาตรฐาน การเตรียมตัวอย่างยางสำหรับกิจกรรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ และส่งเสริมให้ห้องปฏิบัติการเข้าสู่กระบวนการยื่นขอการรับรองระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC17025 เพื่อการแข่งขันในตลาดการค้าสากล ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรห้องปฏิบัติการให้มีทักษะด้านเทคนิคการทดสอบคุณภาพยาง และ กรมวิทยาศาสตร์บริการ จะเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการให้แก่กลุ่มห้องปฏิบัติการทดสอบยางแท่งของประเทศ การฝึกอบรมด้านระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 ให้แก่บุคลากรห้องปฏิบัติการ และการรับรองระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025
การดำเนินงานบูรณการทำงานร่วมกันนี้จะเกิดประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตยางแท่งเอสทีอาร์ ที่เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ ช่วยส่งเสริมเรื่องการควบคุณภาพ สร้างความน่าเชื่อถือในผลการทดสอบของผู้ผลิต เป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดการค้าสากล อีกทั้งยังมีการลดขั้นตอนการขออนุญาตและการตรวจติดตามการเป็นผู้จัดให้มีการวิเคราะห์หรือการทดสอบคุณภาพยางแท่งเอสทีอาร์ ทำให้ประสิทธิภาพการออกใบรับรองคุณภาพยางและการตรวจสอบ กำกับดูแลห้องปฏิบัติการเอกชนดีขึ้น