“รมช.วิวัฒน์” นำร่องจัดทัพสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืน จ.ยโสธร พร้อมเปิดเวทีให้ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมแสดงความคิดเห็นในร่างมติสมัชชาฯ หนุนบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมเชื่อมโยงผลิตอาหารปลอดภัย

พฤหัส ๒๘ มีนาคม ๒๐๑๙ ๑๔:๒๙
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานการจัดสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดยโสธร และมอบใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ยโสธรขั้นพื้นฐาน Yasothon Basic Organic Standard (Yaso BOS) ให้แก่เกษตรกรที่ผ่านการรับรอง จำนวน 18 ราย และใบรับรองมาตรฐานการตรวจรับรองแบบมีส่วนร่วม Particiaptory Guarantee System (PGS)จำนวน 27 ราย และมอบธงในพื้นที่ปลอดสารพาราควอต ณ วัดสิริมงคล (วัดป่าบ้านคำครตา) บ้านคำครตา ตำบลดงมะไฟ อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เกษตรกรรมยั่งยืนเป็นระบบการทำการเกษตรในเชิงผสมผสานและเกื้อกูลกันคำนึงถึงระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยหลีกเลี่ยงและปฏิเสธการใช้สารเคมีสังเคราะห์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหาร นำไปสู่การพึ่งพาตนเอง ทำให้ระบบเกษตรกรรมมีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยจังหวัดยโสธร เป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องที่มุ่งขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป็นจังหวัดที่มียุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ มีเป้าหมายในการพัฒนาจังหวัดให้เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ที่ชัดเจน ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคเกษตรกร มีการจัดเวทีเสวนาร่วมกันทั้งในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นให้เกษตรกรมีการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สำหรับ "การจัดสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืน" ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจกระบวนการสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืน ในการเสนอร่างมติสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดยโสธร นำไปสู่การส่งเสริมและพัฒนาต่อไป โดยในวันนี้ได้รับฟังการเสนอความคิดเห็นในร่างมติสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืน จากตัวแทนภาคีเครือข่ายและชาวบ้าน ประกอบด้วย 10 ข้อ ดังนี้ (1) สนับสนุนการบูรณาการ ทั้งภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้มีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายในการผลักดันเกษตรกรรมยั่งยืนทุกระดับ เช่น การบรรจุหลักสูตรเกษตรกรรมยั่งยืนในโรงเรียนและสถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งให้มีการจัดงานสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับจังหวัดอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง (2)ให้องค์กรปกครองส่วนทองถิ่นมีนโยบายส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน โดนเน้นการมีส่วนร่วมและการบูรณาการทุกภาคส่วน และทุกหน่วยงานในพื้นที่ (3) ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนสนับสนุนการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อปรับแนวคิด ทัศนคติต่อระบบเกษตรกรรมพัฒนาความรู้ เทคนิค ทักษะในการทำเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างครบวงจรให้เกษตรกรรุ่นเก่า เกษตรกรรุ่นใหม่ และสร้างต้นแบบเกษตรกรรมยั่งยืน (4) ให้หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน และเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน สนับสนุนให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ในด้านปัจจัยการผลิตที่เอื้อต่อระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น ที่ดิน น้ำ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น

(5)ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน สนับสนุนโอกาส ช่องทาง ข้อมูลมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และพื้นที่ทางการตลาดสินค้าเกษตรกรรมยั่งยืนที่หลากหลาย เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และตลาดออนไลน์ (6) ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน สนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูลการผลิต และการจำหน่ายเกษตรกรรมยั่งยืนแบบบูรณาการ เพื่อกำหนดนโยบายและวางแผนการสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืน (7) ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน สนับสนุนการศึกษาวิจัยนวัตกรรมเกี่ยวเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างครบวงจร เพื่อสื่อสารให้เกิดการรับรู้ เกิดแรงจูงใจ และความตระหนักต่อการขยายผลเกษตรกรรมยั่งยืน (8) ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน สนับสนุนให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจเรื่องระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและอาหารปลอดภัย จากนั้นสนับสนุนให้มีการจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงการผลิตอาหารที่ปลอดภัย (9)ให้มีนโยบายหรือแนวทางการป้องกันปัจจัยเสี่ยง และภัยคุกคามที่มีต่อระบบเกษตรกรรมยั่งยืนระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด เช่น การใช้สารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงในการเกษตร การปลูกพืชอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยว เป็นต้น และ (10) ให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะว่าด้วยระบบเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดยโสธร อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน

ทั้งนี้ ข้อเสนอในมติสมัชชาฯดังกล่าว จะนำไปเป็นแนวทางสู่การปฏิบัติร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป "นโยบายที่ดีที่สุด คือ นโยบายแบบมีส่วนร่วมที่มาจากเสียงของประชาชนในพื้นที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกฝ่าย ดังเช่นที่ชาวบ้านมาร่วมแสดงความคิดเห็นในมติสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดยโสธรในวันนี้ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดมาร่วมรับฟังนับเป็นจังหวัดนำร่องให้แก่จังหวัดอื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่างในเรื่องความสามัคคี ที่ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อทำเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับสภาพภูมิศาตร์และสังคมโดยจะมีการส่งเสริมให้ขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป" นายวิวัฒน์ กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๕๙ บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) จัดงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 ครั้งที่ 53
๑๑:๒๗ TSE ติดปีก! เตรียมรับทรัพย์ขายหุ้นบ.ร่วมค้า TSR 60% มูลค่า 1.79 พันลบ. ผถห.ไฟเขียวเพิ่มทุนขาย PP 211.77
๑๑:๓๒ สงกรานต์นี้ ร่วมฉลองไปกับ One Bangkok, One Lagoon Splashing Songkran Rhythms ที่สุดของความสนุก สดชื่น
๑๑:๓๕ Xbox เตรียมจัดงาน Xbox Games Showcase พร้อมเผยอัปเดตล่าสุดจาก The Outer Worlds 2
๑๑:๐๐ '137 ดีกรี(R)' เอาใจคนรักสุขภาพเปิดตัว นมอัลมอนด์โปรตีนสูง 11 กรัม พร้อมดึง 'ชมพู่ อารยา' เป็นพรีเซนเตอร์ปีที่สอง
๑๐:๑๕ ผถห.TFG อนุมัติจ่ายเงินปันผล 0.225 บ./หุ้น รับทรัพย์ 24 เม.ย.นี้ ปักธงรายได้ปี 68 เติบโต 10-15%
๑๐:๕๙ รพ.จุฬาฯ ปลื้ม ยอดใช้งานแอป CheckPD ทะลุ 50% ชูวาระวันพาร์กินสันโลก ย้ำให้ผู้คนตระหนักรู้จักโรคพาร์กินสัน
๑๐:๐๗ ภูเขาฟ่านจิ้งซาน: สวรรค์บนยอดเขาที่นักเดินทางห้ามพลาด
๑๐:๐๐ เสริมเกราะป้องกันภัยในครอบครัว มูลนิธิศุภนิมิตฯ เปิดพื้นที่กระชับสัมพันธ์พ่อแม่-ลูก ผ่านหลักสูตรครอบครัวสุขสันต์
๑๐:๔๗ จุดเปลี่ยนนโยบายภาษีสหรัฐฯ: ภาษีทรัมป์ เขย่าโลก จับทิศทางการค้าและการปรับตัวของคริปโตในไทย