นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า การใช้สิทธิสวัสดิการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้มีสิทธิ จำนวน 14.5 ล้านราย (ผู้ที่ลงทะเบียนในปี 2560 และลงทะเบียนเพิ่มเติมภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 – 28 กุมภาพันธ์ 2562 รวมทั้งสิ้น 76,802.78 ล้านบาท โดยมีการใช้สิทธิผ่านวงเงินสวัสดิการแห่งรัฐ แบ่งเป็น ใช้จ่ายที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ/ร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง/ร้านถุงเงินประชารัฐ 55,381.72 ล้านบาท ร้านก๊าซหุงต้ม 127.43 ล้านบาท รถไฟฟ้า (รฟม.) 31.72 ล้านบาท รถ บขส. 202.77 ล้านบาท รถไฟ 358.84 ล้านบาท และรถ ขสมก. 0.23 ล้านบาท และมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นเงิน 5,059.95 ล้านบาท รวมถึงการปรับการเติมเงินรายเดือนวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นเงิน 4,898.21 ล้านบาท เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ถือบัตรสามารถมีระยะเวลาในการใช้จ่ายสอดคล้องกับความต้องการ และสามารถสะสมเงิน (e-Money) ไว้ใช้จ่ายเมื่อจำเป็น หรือสะสมไว้เป็นเงินออมในบัตรได้ รวมทั้งยังสามารถนำไปซื้อสินค้ากับร้านค้าที่ร่วมมาตรการชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อรับเงินคืน 5% ได้อีกด้วย
สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 4 มาตรการ กรมบัญชีกลางได้โอนเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ของผู้มีสิทธิ ประกอบด้วย มาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในช่วงปลายปี 7,148.13 ล้านบาท มาตรการช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีภาระค่าเช่าบ้านและไม่มีที่อยู่อาศัย 247.11 ล้านบาท มาตรการช่วยเหลือค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลแก่ผู้สูงอายุ 3,175.94 ล้านบาท มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา 146.99 ล้านบาท
นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางได้โอนเงินมาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้ข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระแบ่งเป็น 5% โอนเข้ากระเป๋า e-Money เป็นเงิน 20.02 ล้านบาท และ 1% เพื่อการออม โอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารออมสิน (ผู้มีสิทธิอาชีพอื่นนอกเหนือจากเกษตรกรและรับจ้างทางการเกษตร) เป็นเงิน 3.37 ล้านบาท บัญชีเงินฝาก ธ.ก.ส. (ผู้มีสิทธิอาชีพเกษตรกรและรับจ้างทางการเกษตร) เป็นเงิน 0.35 ล้านบาท
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวในตอนท้ายว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพในชีวิตประจำวันของผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างรากฐานการออมในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้มีเงินเก็บสำหรับการใช้จ่ายในอนาคต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระยะยาว