นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า สำหรับมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน กรมประมงจะดำเนินการตามมาตรการเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 62 ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ และ จังหวัดตรัง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 4,696 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้กรมประมงได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวมาแล้วถึง 33 ปี นับว่าเป็นมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรประมงที่กรมประมงให้ความสำคัญมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทรัพยากรสัตว์น้ำได้มีโอกาสฟื้นฟูกลับมาอุดมสมบูรณ์ และเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศให้มีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต สำหรับการปิดอ่าวฝั่งอันดามันนั้น จะกำหนดเครื่องมือทำการประมงบางชนิดเท่านั้นที่ทำการประมงได้ ตามประกาศกรมประมง เรื่อง "กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และจังหวัดตรัง พ.ศ. 2561" ซึ่งประกาศดังกล่าว กรมประมงได้เปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มชาวประมงต่างๆ อาทิ กลุ่มประมงพาณิชย์ กลุ่มประมงพื้นบ้าน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ที่มีส่วนได้เสียในภาคการประมง ร่วมกันเสนอความคิดเห็นเพื่อลดความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ และให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมมากที่สุด โดยผลการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลในปี 2561 ปรากฏว่ามีปริมาณการจับสัตว์น้ำมากขึ้น จากช่วงก่อนมาตรการที่มีอัตราการจับสัตว์น้ำเพียง 243 กิโลกรัมต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นเป็น 368 กิโลกรัมต่อชั่วโมงในช่วงก่อนสิ้นสุดมาตรการ และ 619 กิโลกรัมต่อชั่วโมงในช่วงสิ้นสุดมาตรการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์น้ำเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น ปลาผิวน้ำ ได้แก่ ปลาทู ปลาลัง และกลุ่มสัตว์น้ำหน้าดิน เช่น ปลาเก๋า กุ้งทะเลชนิดต่างๆ เป็นต้น
สำหรับพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2562 มีการประกอบพิธีบวงสรวง พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาภรณ์เกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับเจ้าหน้าที่และชาวประมงที่ร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ พิธีปล่อยขบวนเรือ จำนวน 14 ลำ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่เรือตรวจการณ์ประมง จำนวน 7 ลำ เรือตรวจการณ์จากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค 2 ลำ เรือตรวจการณ์จากกองบังคับการตำรวจน้ำ 1 ลำ เรือ อช. พีพี 4 จากกรมอุทยานแห่งชาติ 1 ลำ เรือจากสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 1 ลำ เรือตรวจการณ์ อบจ.2 จากองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 ลำ และเรือจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 1 ลำ ซึ่งบูรณาการปฏิบัติงานร่วมกันออกลาดตระเวนเพื่อควบคุมพื้นที่ตามมาตรการตลอดระยะเวลา 3 เดือน พร้อมทั้งยังได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายเฝ้าระวังการทำประมง ยุวประมง กลุ่มสมาชิกชุมชนประมงต้นแบบ ผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ (ชปพ.ประมง) รวมถึงชาวประมงในพื้นที่ในการประชาสัมพันธ์เพื่อป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย นอกจากนั้นยังจัดให้มีพิธีปล่อยลูกพันธุ์ปลากะพงขาว จำนวน 20,000 ตัว ลูกพันธุ์ปลาช่อนทะเล จำนวน 1,000 ตัว และลูกพันธุ์ปูม้าจำนวน 20,000 ตัวในพิธีดังกล่าว ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีอยู่อย่างยั่งยืน จึงขอให้พี่น้องชาวประมง และประชาชนทุกท่าน ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และขอขอบคุณที่เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำภายในประเทศ รองอธิบดีกล่าว