รองศาสตราจารย์ ดร. รัชนี คงคาฉุยฉาย ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวในการสัมนาครั้งนี้ว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่สถาบันโภชนาการในฐานะหน่วยงานวิชาการจะได้นำองค์ความรู้ที่มีอยู่ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้กว้างขวางและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านอาหารเพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนไทย เป็นการผลักดันผลงานวิจัย "จากหิ้ง...สู่ห้าง" รวมถึงสร้างเครือข่ายกับภาคอุตสาหกรรม เกิดการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ เป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลและมหาวิทยาลัยมหิดลที่ต้องการให้หน่วยงานด้านวิชาการและภาคเอกชน ทำงานร่วมกันเพื่อก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 อีกทั้งช่วยเสริมศักยภาพความเชี่ยวชาญด้านการตลาด แผนธุรกิจ การผลิต รวมทั้งการกระจายสินค้าสู่สาธารณะ ให้กับคณาจารย์และนักศึกษาของสถาบันโภชนาการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนางานทางด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการ ในระดับประเทศ รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีการวิจัยและเรียนรู้ในสถานที่ผลิตจริง ซึ่งจะก่อประโยชน์อย่างยิ่งกับการเรียนการสอนของสถาบันโภชนาการ นอกจากนี้ สถาบันโภชนาการ จะได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ซีพี ฟู้ดแล็บ จำกัด ในด้านการพัฒนาเครื่องมือวิทยาศาสตร์สำหรับห้องปฏิบัติการวิจัย ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการส่งเสริมงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นอีกด้วย
นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ฟู้ดแล็บ จำกัด กล่าวว่า ซีพีแรมยังคงใช้เงิน 1% ของยอดขายหรือปีละ 150-200 ล้านบาท ทุ่มให้กับการวิจัยและพัฒนาให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ใน การขับเคลื่อนธุรกิจ ยกระดับองค์กรสู่ CPRAM 4.0 รวมถึงยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทย /ในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหาร.... ในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของภูมิภาคเอเซีย อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีชีวภาพ มาพัฒนาอาหารสุขภาพและอาหารสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ การที่สังคมไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างชัดเจน ซีพีแรม จึงได้พัฒนาสินค้าออกมาตอบสนอง ความต้องการกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งตอนนี้ทำออกมาวางตลาดแล้ว คือ ข้าวต้มผู้สูงวัย มีคุณสมบัติ เคี้ยวแหลกง่าย ดูดซึมได้ดี และมีคุณค่าทางโภชนาการที่ผู้สูงอายุต้องการเป็นเพราะกลุ่มผู้สูงอายุต้องการกินอาหารไม่เหมือนคนปกติ นอกจากนี้ ซีพีแรมยังได้พัฒนาอาหารสุขภาพและอาหารสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม เข้าไปตอบโจทย์ ความต้องการ อาทิ กลุ่มผู้ป่วยหรือมีโรคประจำตัว ซึ่งต้องการอาหารคุณสมบัติพิเศษ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ต้องการอาหารที่หวานน้อย หรืออาหารมีความหวานปกติ แต่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วอัตราการดูดซึมความหวานต่ำ ไม่ทำให้ปริมาณน้ำตาลในร่างกายปรับเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ดร.ธัญญ์นลิน วิญญูประสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ ม.มหิดล ในฐานะอาจารย์ผู้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม (Talent mobility) ซึ่งดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง "การพัฒนาขนมไทยเพื่อสุขภาพจากแป้งที่ผ่านการดัดแปรเพื่อลดปริมาณแป้งย่อยเร็ว" และ "การพัฒนาการใช้เทคนิคกักเก็บสารสำคัญเพื่อคงสภาพสารอาหารในผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มคนเฉพาะเจาะจง" และ ดร.พัชรี กิตติสุบรรณ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนา บริษัท ซีพี ฟู้ดแล็บ จำกัด ในฐานะหัวหน้านักวิจัยของบริษัท ซึ่งร่วมสัมนาในครั้งนี้ได้ร่วมกันกล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ ทำให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารฟังก์ชัน (Functional Food) ซึ่งจะสามารถตอบสนองความต้องการโภชนาการเฉพาะบุคคลได้ อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้เทคนิคกักเก็บสารอาหารสำคัญ ช่วยคงสภาพสารอาหาร ทำให้ไม่เกิดการสูญเสียสารอาหารในระหว่างขั้นตอนการผลิต การขนส่งและการเก็บรักษา อีกทั้งยังสามารถควบคุมการปลดปล่อยสารอาหาร ทำให้ผู้บริโภคได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย รวมถึงช่วยให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่เหมาะสมกับสุขภาพของตนได้มากขึ้น เช่น ข้าวต้มสำเร็จรูปสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในผลงานนวัตกรรมอาหารเพื่อสังคมที่สถาบันโภชนาการพัฒนาร่วมกันกับ บริษัท ซีพี ฟู้ดแล็บ จำกัด พัฒนาขึ้น โดยข้าวต้มดังกล่าวเป็นข้าวต้มสำเร็จรูปที่มีชิ้นเนื้อสัตว์ และผักที่ขึ้นรูปใหม่ มีเนื้อสัมผัสที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุที่สูญเสียฟัน และมีสารอาหารครบถ้วน มีการกระจายตัวของสัดส่วนพลังงานจากสารอาหารหลักที่เหมาะสม อีกทั้ง มีใยอาหารสูงและมีโซเดียมต่ำอีกด้วย ขณะนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้มีวางจำหน่ายในท้องตลาดแล้ว นอกจากนี้ ขณะนี้ยังได้ดำเนินการพัฒนาขนมไทยให้มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำตาลในเลือดและผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งคาดว่าจะออกสู่เชิงพาณิชย์ในเร็วๆ นี้ รวมทั้งจากความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในครั้งนี้ จะได้ส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยที่หลากหลายมากขึ้นในอนาคต