นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า "ไม่ว่ารูปแบบรัฐบาลผสมจะมีองค์ประกอบเป็นแบบใด ต่างก็ต้องเผชิญโจทย์การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กระทบภาคการส่งออกทั้งสิ้น ทำให้รัฐบาลใหม่คงต้องเร่งผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนภายใต้กรอบงบประมาณปี 2562 รวมถึงการผ่านร่างงบประมาณปี 2563 ซึ่งถ้าหากการจัดตั้งรัฐบาลดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายในเดือนมิถุนายน 2562 และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาตามคาด ก็จะช่วยหนุนการบริโภคครัวเรือนได้ราว 0.2-0.4% ของจีดีพี และทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก"
อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพทั้งปี 2562 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ลงมาที่ 3.7% จากเดิมที่ 4.0% โดยมีกรอบคาดการณ์ใหม่ที่ 3.2-3.9% การปรับลดประมาณการดังกล่าว สะท้อนกิจกรรมการส่งออกที่มีแนวโน้มอ่อนแรงลง ตามผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย แม้ว่าประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะมีพัฒนาการที่ดีกว่าที่เคยคาดไว้เดิมก็ตาม ทั้งนี้ ได้มีการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของการส่งออกในปี 62 จากเดิม 4.5% เหลือ 3.2% และปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของการนำเข้าจากเดิม 5.3% เหลือ 4.3%
ด้านแนวโน้มดอกเบี้ยในประเทศนั้น นางสาวณัฐพร คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.75% ตลอดปีนี้ ซึ่งเมื่อผนวกกับสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ยังมีอยู่มาก และจังหวะการปล่อยสินเชื่อที่ยังค่อยเป็นค่อยไป คงทำให้การแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทยยังไม่รุนแรง ส่วนทิศทางค่าเงินบาท คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 31.20-32.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยติดตามยังเป็นปัจจัยในประเทศ ทั้งสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจไทย