กระทรวงวัฒนธรรม จัดประกวดดนตรี-การแสดงพื้นบ้าน “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม” ๔ ภูมิภาค ส่งเสริมเด็ก-เยาวชนไทยเล่นดนตรี นาฏศิลป์

พุธ ๐๓ เมษายน ๒๐๑๙ ๑๕:๓๓
วธ.จัดประกวดดนตรี-การแสดงพื้นบ้าน "รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม" ๔ ภูมิภาค เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ส่งเสริมเด็ก-เยาวชนไทยเล่นดนตรี นาฏศิลป์-ศิลปะการแสดงได้อย่างน้อย ๑ ชนิด

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน พุทธศักราช ๒๕๖๒ "รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม" เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๒ เมษายน ในฐานะที่ทรงเป็นวิศิษฏศิลปิน และส่งเสริม สืบสานและถ่ายทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านให้กับเด็กและเยาวชน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศในการประกวดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า "การจัดประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้านในครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันให้กับเด็กและเยาวชนที่มีทักษะในด้านศิลปะการแสดงอย่างสร้างสรรค์ และพัฒนาต่อยอดทักษะทั้งในด้านดนตรีและนาฏศิลป์ไทยจากระดับท้องถิ่น สู่ระดับชาติและนานาชาติ อันนำไปสู่ความภาคภูมิใจในมรดกภูมิปัญญาของชาติและรักษาให้คงอยู่ ทั้งยังเป็นการสร้างชื่อเสียงภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของไทยบนเวทีโลก ซึ่งผู้เข้าประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน จะได้แสดงความสามารถตามประเภทที่แข่งขัน โดยการร้อยเรียงดนตรีและการแสดงที่หลากหลาย ในรูปแบบบูรณศิลป์ หรือรวมศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น อาทิ ภาคเหนือ เช่นสะล้อ ซอ ซึง ขับซอ เป็นต้น มาสร้างสรรค์การแสดงชุดใหม่ ซึ่งประกอบด้วย บทร้อง ท่ารำ ท่วงทำนอง ที่ไม่เคยใช้ประกวดที่ใดมาก่อน และเสนออัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน โดยมีเนื้อหาบางช่วงแสดงเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดาฯ และส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ซึ่งจะมีคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นกรรมการตัดสิน ที่สำคัญสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสามารถเล่นดนตรี นาฏศิลป์และศิลปะการแสดงได้อย่างน้อย ๑ ชนิด เพื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมและความเป็นไทย รวมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีความรักและภาคภูมิใจในความเป็นไทย

ทั้งนี้ การประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน จะจัดประกวดรอบคัดเลือก ใน ๔ ประเภท (ภูมิภาค) ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน จากนั้น คณะที่ผ่านรอบคัดเลือกประเภทละ ๓ คณะ รวม ๑๒ คณะ จะได้เข้าประกวดรอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒ ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ กรุงเทพมหานคร โดยรางวัลของการประกวดทั้ง ๔ ประเภท ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ ได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พร้อมเกียรติบัตร และเงินรางวัล ๑๐๐,๐๐๐ บาท รองชนะเลิศ อันดับ ๑ ได้รับถ้วยเกียรติยศจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมเกียรติบัตร และเงินรางวัล ๘๐,๐๐๐ บาท รองชนะเลิศ อันดับ ๒ ได้รับถ้วยเกียรติยศจากปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมเกียรติบัตร และเงินรางวัล ๖๐,๐๐๐ บาท ตามลำดับ"

ภายในงาน ยังได้รับเกียรติจาก ๓ ผู้เชี่ยวชาญ มาให้ข้อมูลความรู้ในการเสวนา ได้แก่ นายอานันท์ นาคคง อาจารย์ประจำคณะ ดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์บัวผัน สุพรรณยศ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเพลงพื้นบ้านภาคกลาง และศิลปวัฒนธรรมไทย และว่าที่ร้อยตรีจตุพร ภักดี ผู้เคยได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้านฯ ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม มาร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ "ดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน สืบสานอย่างสร้างสรรค์"

ทั้ง ๓ ท่าน ได้เล่าถึงความสำคัญของดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน และวันอนุรักษ์มรดกไทย ที่บรรพบุรุษได้สร้างความงดงามไว้ให้ผืนแผ่นดินไทยให้อุดมไปด้วยศิลป์นานัปการ ซึ่งอยากให้คนไทย รักและหวงแหนรักษาให้ดำรงอยู่สืบต่อไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อยากให้เข้ามามีส่วนร่วมโดยที่ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องล้าหลัง รวมถึงได้ชี้แจงรายละเอียดหลักเกณฑ์ของการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ที่ถูกแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ เพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้ามาประยุกต์ดนตรีและศิลปะการแสดง ให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังสามารถส่งเสริม รักษา อนุรักษ์คุณค่าดนตรีและศิลปะพื้นบ้านไว้ตราบชั่วลูกชั่วหลาน

การประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน พุทธศักราช ๒๕๖๒ "รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม" เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๒ เมษายน ๒๕๖๒ มีกำหนดจัดประกวดรอบคัดเลือกทั้ง ๔ ภูมิภาค และ รอบชิงชนะเลิศ ดังนี้

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ ฮอลล์ ๑ โคราชฮอลล์ เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา

- ภาคเหนือ วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ อุทยานการค้ากาดสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่

- ภาคใต้ วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๒ ณ หาดใหญ่ฮอลล์ B ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

- ภาคกลาง วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๒ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ

และขอเชิญชวน นักเรียน เยาวชน และผู้ที่สนใจ เข้าชมและเป็นกำลังใจให้คณะผู้เข้าประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน "รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม" รอบชิงชนะเลิศ ได้ในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ กรุงเทพมหานคร ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.culture.go.th หรือเฟสบุ๊คกรมส่งเสริมวัฒนธรรม www.facebook.com/DCP.culture/

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๑ 15 พฤศจิกายน 2567 ร่วมฉลองเทศกาลลอยกระทง กับ 5 โรงแรมหรูวิวริมทะเล ในเครือ เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์
๑๖:๑๘ Blendata เปิดตัว Blendata Cloud บน Microsoft Azure Marketplace ยกระดับโซลูชัน Big Data ไทยสู่ระดับโลก
๑๖:๓๔ แอปเรียกรถ Maxim เปิดประสบการณ์บริการเรียกรถสุดพิเศษวันฮาโลวีน เซอร์ไพรส์จากคนขับที่คุณไม่ควรพลาด
๑๖:๑๔ เกษตรหนองหญ้าปล้อง จัดเวทีประชาคมและลงตรวจสอบพื้นที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ประจำปี 2567/68
๑๖:๔๗ เสริมความแกร่ง! ธุรกิจการบิน ม.ศรีปทุม เปิดเวทีบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญ ติดปีกให้นักศึกษาสู่ตลาดอุตสาหกรรมการบิน
๑๖:๕๗ Wayzim ปรับโฉมการจัดการคลังสินค้าด้วยระบบ ASRS Stacker Crane สำหรับประสิทธิภาพสูงสุด
๑๖:๔๑ การเคหะแห่งชาติ ระดมกูรูด้านภัยพิบัติ ตั้งรับ ปรับตัวกับภัยพิบัติ
๑๖:๑๑ ก.ล.ต. - ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประสานความร่วมมือ ยกระดับการทำหน้าที่กำกับดูแลตลาดทุนร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
๑๖:๕๗ ไทย-ไต้หวันร่วมยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เสริมแกร่งกำลังคนทักษะสูง สู่ฮับการผลิต PCB แห่งอาเซียน
๑๕:๔๐ JAS คว้า 5 ดาว 2 ปีซ้อน จากการประเมิน CGR 2024