ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวภายหลังร่วมเปิดงานเสวนา "5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน" ว่า ล่าสุดสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ได้ประกาศผ่านเว็บไซต์แล้ว ว่าจะพยายามนำผู้เชี่ยวชาญของทั้งโลกมาร่วมหารือกันวางมาตรฐานคลื่นความถี่สำหรับบริการ 5G โดยกำหนดเสร็จสิ้นภายในปีนี้ ดังนั้นทั้งโลกจะสามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีบางประเทศเริ่มนำร่องบริการไปบ้างแล้ว เพราะอยากเป็นประเทศแรกๆ แม้ว่ามาตรฐานระดับโลกยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนประเทศไทย ให้ความสำคัญกับเรื่องการเตรียมความพร้อม และการทดสอบกันการใช้งานอย่างเข้มข้น ทั้งในศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5G ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในพื้นที่อีอีซี ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ ขอความร่วมมือใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา โดยทั้งสองแห่งได้รับตอบรับจากผู้ทดสอบในหลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ ผู้ให้บริการมือถือและอินเทอร์เน็ต ผู้ผลิตอุปกรณ์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว สาธารณสุข และโรงงานอุตสาหกรรม
ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังวางแผนรับการเปิดบริการ 5G เชิงพาณิชย์ปีหน้า โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อยู่ระหว่างจัดทำรูปแบบการประมูลคลื่น 5G ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างจากการประมูล 3G และ 4G ที่ผ่านมา เพราะมองเห็นชัดเจนว่า การใช้ 5G จะเปลี่ยนแปลงการใช้ข้อมูลให้มากขึ้น ด้วยความหน่วงต่ำระดับเสี้ยววินาที ความเร็วในการส่งข้อมูลสูงขึ้น 10-100 เท่าจาก 4G มีอัตราการส่งข้อมูลได้มหาศาล ดังนั้นจะก่อให้เกิดธุรกิจมหาศาล
อีกประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญคือ 5G เองเป็นตัวโครงสร้างพื้นฐาน แต่สิ่งที่จะตามมาคือ การใช้ประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ตรงนี้ต่างหากที่จะเป็นตัวเพิ่มมูลค่าให้ขีดความสามารถในการแข่งขัน และคุณภาพชีวิตของประชาชน
"ดังนั้นในเรื่องการจัดระเบียบการใช้ข้อมูล เนื่องจาก 5G จะมีการใช้ข้อมูลมหาศาล ซึ่งทั่วโลกก็มีประเด็นเดียวกันว่าจะจัดระเบียบเรื่องนี้อย่างไร เพราะส่วนหนึ่งเนื่องจากประชากรเริ่มที่จะใช้ออนไลน์มากขึ้น ในประเทศไทยเองก็มีบัญชีออนไลน์ของเจ้าใหญ่ๆ หลายสิบล้านบัญชี ดังนั้นเรื่องของการจัดเก็บภาษีการค้าออนไลน์ หรือการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบางประการสำหรับผู้ที่ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน 5G นี่คือเรื่องของความเป็นธรรมทั้งในส่วนของผู้ประกอบการด้วยกันเอง และในส่วนของผู้บริโภค โดยแนวคิดคือ จัดเก็บจากผู้ประกอบการที่เกิดธุรกรรมในประเทศไทย ไม่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภค" ดร.พิเชฐกล่าว
ทั้งนี้ มีข้อมูลจากสำนักงาน กสทช. ระบุว่า ปัจจุบันผู้บริโภคนิยมใช้บริการผ่านออนไลน์ (OTT) จากแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการ OTT (Over-the-top) ต่างประเทศ 3 รายใหญ่ ได้แก่ เฟซบุ๊ก ยูทูบ และไลน์ โดยจากสถิติปี 2561 มีจำนวนผู้ใช้งาน 61 ล้านบัญชี มียอดใช้ 655 ล้านครั้งต่อเดือน, 60 ล้านบัญชี ยอดใช้ 409 ล้านครั้งต่อเดือน และ 55 ล้านบัญชี ยอดใช้ 126 ล้านครั้งต่อเดือน ตามลำดับ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในไทย ต้องขยายโครงข่ายเพื่อรองรับปริมาณข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้น ขณะที่ ผู้ให้บริการ OTT ไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในยุค 5G มีการคาดการณ์ว่าปริมาณใช้งานข้อมูลจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 40 เท่า ซึ่งเป็นความท้าทายของ กสทช. ในการหามาตรการเพื่อจัดเก็บรายได้จาก OTT ต่างประเทศเพื่อความเป็นธรรมในการลงทุน และเป็นรายได้เข้ารัฐ
พร้อมกันนี้ เตรียมแนวทางการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 5G โดยจะให้มีการประมูล 3 แบบ คือ ใบอนุญาตเฉพาะพื้นที่ (Specific Location) เช่น พื้นที่อุตสาหกรรม หรือท่าเรือ, ใบอนุญาตสำหรับพื้นที่โทรคมนาคม ซึ่งจะครอบคลุมทั่วประเทศ และใบอนุญาตแบบมัลติแบนด์ เช่น ประมูลคลื่น 26 GHz คู่กับ 2600 MHz หรือคลื่น 28 GHz คู่กับ 2800 MHz เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์แบนด์วิธได้สูงสุด